Uncategorized

เพชรบุรี-ชาวบ้าน3หมู่บ้าน ฮือ!ถือป้ายคัดค้าน กรณีชลประทาน วางแผนขุดคลองระบายน้ำส่งคลอง D1 ชาวบ้าน ระบุ หากขุดคลองระบายป้องกันน้ำท่วมเมือง พื้นที่เกษตรจะหมดไป

เพชรบุรี-ชาวบ้าน3หมู่บ้าน ฮือ!ถือป้ายคัดค้าน กรณีชลประทาน วางแผนขุดคลองระบายน้ำส่งคลอง D1 ชาวบ้าน ระบุ หากขุดคลองระบายป้องกันน้ำท่วมเมือง พื้นที่เกษตรจะหมดไป

เหตุการณ์ที่ชาวบ้านหมู่บ้านท่าซิก, หมู่บ้านสายหนึ่ง ,และหมู่บ้านหนองขานาง กว่าร้อยคน ยืนถือป้าย แสดงเจตจำนงไม่เห็นด้วยกับกรณีกรมชลประทาน มีแผนจัดทำโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างจังหวัดเพชรบุรี เมื่อช่วงบ่ายวันที่6 ธันวาคม2561 ขณะที่กรมชลประทานได้จัดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินตามโครงการดังกล่าว ที่บริเวณศาลาเอนกประสงค์ภายในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี โดยมีนายกอบชัย บุญอรนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เดินทางมาเป็นประธานเปิด ทั้งนี้มี ดร.อาทร สุทธิกาญจน์ ผอ.ส่วนวางโครงการที่4 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน นายชิดชนก สมประเสริฐ ผอ.สำนักงานชลประทานที่14 และนายสันต์ จรเจริญ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี ร่วมชี้แจงความเป็นมาและตอบข้อซักถามของชาวบ้านเกี่ยวกับโครงการขุดคลองระบายน้ำเพื่อผันน้ำลงคลองระบายน้ำD1 ซึ่งการขุดคลองสายนี้จะเริ่มตั้งแต่เหนือเขื่อนบ้านท่าซิก ผ่านพื้นที่ด้านการเกษตรตั้งแต่บ้านท่าซิก บ้านหนองขานาง และบ้านสายหนึ่ง แล้วไปจบที่บริเวณถนนเพชรเกษมบ้านนาทดลอง อ.ชะอำ เพื่อบรรจบกับของระบายน้ำD1 เพื่อไหลลงสู่ทะเลในช่วงฤดูน้ำหลากดร. อาทร สุทธิกาญจน์ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่4 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เผยว่า หลังจากที่จังหวัดเพชรบุรี ประสบปัญหาอุทกภัยรุนแรงจนเกิดผลกระทบในบริเวณกว้างถึง5ครั้ง คือในปี พ.ศ.2539,2540,2546,2553,2559และ2560 ซึ่งมีพื้นที่เสียหายมากกว่า200,000ไร่ เป็นพื้นที่การเกษตรในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี พื้นที่ชุมชน และหน่วยงานราชการต่างๆ โดยการเกิดน้ำท่วมของลุ่มน้ำหลักแม่น้ำเพชรบุรี ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ราบลุ่มของแม่น้ำเพชรบุรีบริเวณท้ายเขื่อนลงไป ดังนั้นหากมีการขุดคลองระบายน้ำเพื่อผันน้ำลงคลองระบายD1ก็จะช่วยลดปัญหาบรรเทาอุกทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างจังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่ อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมืองเพชรบุรี และอำเภอบ้านแหลม ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำก่อนผ่านเขื่อนเพชรได้650ลูกบาศก์เมตร/วินาที ให้ไหลลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น จึงจัดเปิดเวทีรับฟังและแสดงข้อคิดเห็นในครั้งนี้ เพื่อเป็นการศึกษาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง อย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบที่เหมาะสมด้านนายทวีศักดิ์ ตัวแทนชาวบ้านสายหนึ่ง ได้นำเสนอ เเละขอให้เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน คำนึงถึงผลกระทบที่ชาวบ้านจะได้รับกรณีที่จะมีการขุดคลองเส้นดังกล่าว โดยให้เหตุผลถึงการคัดค้านว่า หากกรมชลประทานขุดคลองเพื่อผันน้ำตัดผ่านพื้นที่ของชาวบ้านที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตรกรมาอย่างยาวนานจะไม่เหลือพื้นที่ให้ลูกให้หลานประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต เพราะการขุดคลองผ่าพื้นที่การเกษตรก็เท่ากับไปทำลายแหล่งทำมาหากินของชาวบ้านทั้ง3หมู่บ้าน บางจุดขุดผ่านกลางหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านล้วนได้รับแต่ผลเสีย และแม้จะมีการเวนคืนที่ดินให้กับชาวบ้านก็ตาม นอกจากนั้นชาวบ้านยังให้เหตุผลอีกว่า ปัญหาการเกิดอุทกภัยที่ผ่านมา หากเจ้าชลประทานมีความรอบครอบเกี่ยวกับบริหารจัดการปัญหามันก็จะไม่เกิดความรุนเเรง และหากเจ้าหน้าที่เห็นว่าการแก้ไขปัญหาอุทกภัยมุ่งเน้นแต่แก้ปัญหาให้กับเขตเมืองหรือย่านพาณิชย์ แล้วไม่เห็นความสำคัญของประชาชนที่มีอาชีพการเกษตร จึงขอให้เจ้าหน้าที่ได้ทบทวนและให้ศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเท่าเทียม ตัวแทนชาวบ้านหนองขานาง ซึ่งเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ได้รับผลกระทบหากมีการขุดคลองผันน้ำลงคลองD1 กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเหนือเขื่อนเพชรมีคลองส่งน้ำสาย1สาย2 สาย3และคลองใหญ่ฝั่งซ้ายบ้านชลประทานราษฎร์ พื้นที่ตำบลท่าแลง แม้ว่าปัจจุบันคลองสาย3จะเพิ่มช่องทางการระบายน้ำลงคลองD9ไปบ้างแล้วก็ตาม ส่วนคลองอีก3สายดังกล่าว ยังมีพื้นที่ขยายคลองให้กว้างยิ่งขึ้นเพื่อเปิดเป็นช่องทางระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากเพิ่มเติม เพราะเหตุใดชลประทานถึงไม่มีการสำรวจและดำเนินการซึ่งหากมีการขยายคลองทั้ง3สายเพิ่มขึ้นก็จะไม่เกิดผลกระทบกับชาวบ้าน และไม่ต้องเสียค่าเวนคืนที่ดินอีกด้วย เพราะพื้นที่คลองชลประทานที่เหลือทั้ง3สายเป็นเขตพื้นที่ชลประทาน จะดีกว่ามาสร้างโครงการขุดคลองตัดผ่านพื้นที่การเกษตรและหมู่บ้านจนส่งผลกระทบให้กับชาวบ้านในระยะยาว และยืนยันว่า โครงการบรรเทาอุทกภัยในครั้งนี้ ไม่มีชาวบ้านคนไหนยอมแน่นอน ดังนั้นจึงอยากให้เจ้าหน้าที่กรมชลประทานนำเหตุผลและข้อชี้แจงของชาวบ้านกลับไปศึกษาหาแนวทางวางแผนของโครงการดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ก็ยินยอมรับฟัง ซึ่งจะนำข้อมูลที่ได้รับและการไม่เห็นด้วยของชาวบ้านกลับไปศึกษาวางแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างจังหวัดเพชรบุรีต่อไป
กสิพล ศิริลาภ-เพชรบุรี