สถานที่ท่องเที่ยว

พบเป็ดพม่า (Ruddy Shelduck) เป็ดหายาก นกอพยพ ที่วัดนอกปากทะเล อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี นักดูนกตื่นตัวจัดกลุ่มดูนกเข้าพื้นที่ติดตามพฤติกรรมและบันทึกภาพทำประวัติการพบเจอในพื้นที่

พบเป็ดพม่า (Ruddy Shelduck) เป็ดหายาก นกอพยพ ที่วัดนอกปากทะเล อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี นักดูนกตื่นตัวจัดกลุ่มดูนกเข้าพื้นที่ติดตามพฤติกรรมและบันทึกภาพทำประวัติการพบเจอในพื้นที่

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.61 ชาวบ้านในพื้นที่บริเวณวัดนอกปากทะเล ต.ปากทะเล อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี พบเป็ดน้ำชนิดหนึ่งที่ไม่เคยพบเห็น มีสีสันต์สวยงาม เชื่อว่าเป็นตระกูลนกอพยพ หากินอยู่ในพื้นที่ ทำให้นักดูนกและช่างภาพสัตว์ป่า ต่างก็เดินทางเพื่อไปบันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึก เชื่อว่าเป็นนกอพยพที่เข้ามาหากินในพื้นที่

นายวิชิต แสงประทีป อดีตข้าราชการครูเกษียณราชการ ซึ่งเป็นช่างภาพอิสระ ได้เฝ้าติดตามถ่ายภาพเป็ดพม่าฝูงนี้ ซึ่งนับได้จำนวน 7 ตัว ซึ่งเจ้าตัวระบุว่า การเข้าไปถ่ายภาพยากมาก เพราะไม่สามารถเข้าใกล้ได้เลย ตนเอง เอาห่วงยางมาทำแพแล้วเอากล้องบันทึกภาพตั้งไว้ แล้วค่อยๆลอยตัวเข้าไป แต่เข้าใกล้ไม่ได้มาก เนื่องจากเป็ดพม่า มีความระวังตัวไวมาก แต่ตนก็จะพยายามบันทึกภาพให้ได้ดีที่สุดเนื่องจาก เป็ดพม่าเป็นนกอพยพที่พบเห็นได้ยากมากและมีจำนวนน้อยตัว เคยมีพบบ้างแถวๆวัดเขาตะเคราเมื่อหลายปีก่อน แต่ก็มีไม่เกิน 5 ตัว ถือเป็นตระกูลนกเป็ดน้ำ
“นกเป็ดน้ำ” (ซึ่งหมายถึงเป็ดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ) มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่สามารถพูดได้เต็มปากว่าหาง่ายในเมืองไทย แม้จะมีความหลากหลายทางชนิดพันธุ์สูงและมีรายงานการพบเกือบถึง 30 ชนิดด้วยกัน แต่การพบเห็นเป็ดตามธรรมชาติชนิดใดก็ตามที่ไม่ใช่เป็ดแดง (Lesser Whistling Duck) สำหรับเมืองไทยทุกวันนี้เรียกได้ว่ามีความน่าสนใจพอตัวเลยทีเดียว อาจจะมีข้อยกเว้นเป็นเพียงบางพื้นที่ที่สามารถพบเป็ดคับแค (Cotton Pygmy Goose) ได้บ่อยเช่นเดียวกันเท่านั้น

เป็ดส่วนใหญ่ในไทยเป็นนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ที่หาดูได้ค่อนข้างยาก แต่ในบรรดาเป็ดหายากเหล่านี้ก็มีหลายชนิดที่มีรายงานการพบทุกปีในเมืองไทย หนึ่งในนั้นคือเป็ดสีสวยตัวเขื่องที่มีชื่อว่า เป็ดพม่า (Ruddy Shelduck) ซึ่งมีการรายงานกระจัดกระจายมาจากหลายที่ แม้จะมีแค่ปีละไม่กี่แห่ง แต่ก็น่าสนใจว่าไม่ค่อยพบในที่ซ้ำเดิมเท่าใดนัก
ตามปกติจะพบเป็นคู่หรือฝูงเล็ก ๆ ยืนหากินตามริมน้ำหรือในน้ำตื้น รายงานส่วนใหญ่มาจากทางภาคเหนือ เคยมีการพบเห็นหลายครั้งตามแหล่งน้ำใกล้ชายฝั่งทะเลของอ่าวไทยตอนบนด้วย แต่การพบเป็ดพม่าอาจไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเสมอไปเพราะในภาคกลางและพื้นที่ใกล้เคียงมีบางส่วนมาจากการเลี้ยงแบบปล่อยหรือหลุดกรง

เป็ดพม่ามีสัดส่วนของคอค่อนข้างยาวเมื่อเทียบกับเป็ดส่วนใหญ่ และมีปากสั้นคล้ายห่าน จำแนกชนิดได้ง่ายจากลำตัวสีส้มเข้ม บริเวณใบหน้าของมันเป็นสีขาวนวล ขนปีกชั้นในสีเขียวเหลือบสะท้อนแสง ยามบินจะเห็นขนคลุมปีกสีขาวตัดกับขนปลายปีกสีดำ ทั้งสองเพศมีสีสันคล้ายคลึงกัน จุดแตกต่างที่ชัดเจนมีเพียงขีดสีดำรอบคอซึ่งจะพบเฉพาะในเพศผู้ โดยทั่วไปเพศเมียก็จะมีสีขาวรอบใบหน้าและคอมากกว่าด้วย

ชื่อไทยของมันน่าจะมาจากการที่สามารถพบมันได้เป็นจำนวนมากในประเทศพม่า ซึ่งมันก็มีสถานภาพเป็นนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์เช่นเดียวกับในไทย แต่หาดูได้ง่ายกว่ามาก อันที่จริงเป็ดพม่ามีขอบเขตการแพร่กระจายกว้างขวางตั้งแต่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกามาจนถึงตะวันออกสุดของจีนตอนใต้ โดยไม่ได้มีการแยกชนิดย่อยเพราะในทุกท้องที่มีสีสันเหมือนกัน ประชากรอพยพส่วนใหญ่ทำรังทางตอนกลางของทวีปเอเชีย ในหลายประเทศมีแนวโน้มลดจำนวนลง โดยสาเหตุหลักน่าจะเป็นการถูกล่า หรือบางส่วนอาจสูญเสียถิ่นอาศัย
กสิพล ศิริลาภ-เพชรบุรี