ข่าวการศึกษาและไอที

กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ม.นเรศวร เปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการงานหัตถกรรมช่างสิบหมู่ “ผ้าปักจักสาน” เพื่อพัฒนาสู่สินค้าต้นแบบภาคเหนือตอนล่าง

กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ม.นเรศวร เปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการงานหัตถกรรมช่างสิบหมู่
“ผ้าปักจักสาน” เพื่อพัฒนาสู่สินค้าต้นแบบภาคเหนือตอนล่าง

รับสมัครผู้ประกอบการ กลุ่มโอทอป นิสิต นักศึกษา ศิษย์เก่า และผู้สนใจ เข้ารับการอบรมการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการงานหัตถกรรมเทคนิคการปัก วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ณ อาคารวิสุทธิกษัตริย์ กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร รับจำนวนจำกัด ตั้งแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม – ๑๐ พฤศจิกายนนี้
รองศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า “ในการส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมงานด้านศิลปวัฒนธรรมนั้น ช่างสิบหมู่ประเภทต่าง ๆ นับเป็นภูมิปัญญาที่มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ตัวอย่างเช่น การปัก เป็นงานฝีมือที่มีความประณีต ละเอียดอ่อนสูง ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้สตรีหันมาปักผ้าด้วยมือในรูปแบบต่าง ๆ กันมากขึ้น และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในวงกว้าง ด้วยเหตุนี้ กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงจัดการอบรม ‘การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการงานหัตถกรรมเทคนิคการปัก’ ขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการงานหัตถกรรมช่างสิบหมู่เทคนิคการปักในเขตภาคเหนือตอนล่าง ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ สืบสาน และถ่ายทอดงานศิลปหัตถกรรมของไทยด้วยเทคนิคการปักให้กับนิสิต นักศึกษา ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยนเรศวร และบุคคลทั่วไป”
นางนิพัทธ์ เกษาพร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม กล่าวว่า “การอบรม ‘การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการงานหัตถกรรมเทคนิคการปัก’ กำหนดจัดขึ้นในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ณ อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ประกอบด้วยงานปัก ๒ ประเภทคือ งานปักผลิตภัณฑ์เครื่องจักสาน วิทยากรโดยคุณประภัสสร รามณรงค์ เจ้าของร้าน Needlearts corner และงานปักผ้า วิทยากรโดยคุณภธิรา จิตตะสนธิ เจ้าของร้าน Arromdee Hobby cafe’ ที่จะอบรมให้ความรู้ตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐาน ลวดลาย ไปจนถึงการลงมือปฏิบัติปักกับผลิตภัณฑ์เครื่องจักสาน และปักกับชิ้นงาน เช่น เสื้อผ้า กระเป๋าผ้า หมวก เป็นต้น
จึงขอเชิญผู้ประกอบการ (SME) ผู้ประกอบการรายเดียว กลุ่มโอทอป (OTOP) ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ตลอดจนนิสิต นักศึกษา ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยนเรศวร และบุคคลทั่วไปเข้ารับการอบรม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดใดทั้งสิ้น ทั้งนี้ผู้เข้ารับการอบรมต้องนำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมาเองเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการฝึกอบรม หรือให้ทางผู้จัดเตรียมวัตถุดิบไว้ให้โดยมีค่าใช้จ่ายตามจริง และผู้เข้ารับการอบรมต้องนำความรู้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์จริง พร้อมทำผลิตภัณฑ์ตัวอย่างส่ง จำนวน ๑ ชุด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครได้ที่งานบ่มเพาะและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร โทรศัพท์ ๐ ๕๕๙๖ ๑๒๐๑, ๐ ๕๕๙๖ ๑๒๐๗ และ www.nuac.nu.ac.th สมัครด่วนตั้งแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม – ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ รับจำนวนจำกัดเพียง ๓๐ คนเท่านั้น