ข่าว ลำพูน

อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน พร้อม ทต.แม่แรง เตรียมจัดงานผ้าอย่างยิ่งใหญ่ สามงานยาว

อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน พร้อม ทต.แม่แรง เตรียมจัดงานผ้าอย่างยิ่งใหญ่ สามงานยาว

อำเภอป่าซางเป็นอำเภอหนึ่งที่มีชื่อเสียงในเรื่อง “ผ้าฝ้ายทอมือ” มีแหล่งผลิตที่เป็นชุมชนใหญ่อยู่ที่บ้านหนองเงือกและบ้านดอนหลวง ซึ่งได้รับการสืบทอดวัฒนธรรมการทอผ้ามาจากบรรพบุรุษมาหลายชั่วอายุคนโดยจะนำผ้าทอมาทำการตกแต่งเครื่องเรือนประเภทผ้าคลุมเตียง ผ้าม่าน ปลอกหมอน ผ้าคลุมตู้เย็น ผ้าปูโต๊ะ พรมเช็ดเท้า เป็นต้น

อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูนได้ชื่อว่าเป็นอำเภอที่มีชาวบ้านทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองมากที่สุดและมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในลำพูน เมื่อราวยี่สิบปีก่อนร้านค้าริมถนนในป่าซางจะเป็นร้านขายผ้าทอเกือบทุกร้าน นักท่องเที่ยวจากที่อื่นๆ หรือแม้แต่กลุ่มทัวร์ชาวต่างประเทศก็นิยมเดินทางมาเยือนที่ป่าซางแห่งนี้อยู่เสมอ

แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่ายี่สิบแล้ว ปัจจุบันร้านค้าต่าง ๆ ในป่าซางจะหันมาขายสินค้าประเภทอื่น แต่ยังมีร้านค้าบางร้านที่ยังคงขายผ้าฝ้ายทอมือแบบพื้นเมืองของป่าซางอยู่ แม้จะไม่ฟู่ฟ่าเหมือนเดิม แต่ก็ยังเป็นเอกลักษณ์และอนุรักษ์งานทอผ้าของป่าซางไม่ให้สูญสลายไป

ป่าซางนอกจากจะมีความสำคัญขึ้นชื่อในเรื่องการทอผ้าฝ้ายแล้ว ในอดีตอำเภอแห่งนี้ยังเป็นเมืองหน้าด่านในการป้องกันข้าศึกศัตรูที่จะยกทัพมาตีล้านนาอีกด้วย พื้นที่ของอำเภอป่าซางเมื่อกว่า 60 ปีที่ผ่านมาเต็มไปด้วยป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์พร้อมด้วยศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น อำเภอป่าซางเริ่มพัฒนาเมื่อมีการสร้างถนนเชื่อมระหว่างจังหวัดทางภาคเหนือกับกรุงเทพฯเมื่อ ปี 2489 โดยตัดผ่านมาจากอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ทำให้ถนนสายนี้เป็นถนนสายหลักเส้นแรกที่ผ่านตัวอำเภอป่าซาง มีผู้คนจำนวนมากแวะพักอำเภอป่าซางเพื่อรับประทานอาหารและซื้อสินค้าหัตถกรรม ทำให้ในช่วงเวลานั้นป่าซางเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุด

ต่อมาเมื่อมีการสร้างถนนซุปเปอร์ไฮเวย์สายลำปาง – เชียงใหม่ขึ้น ผู้คนหันไปใช้เส้นทางสายใหม่เนื่องจากสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง ทำให้อำเภอป่าซางกลายเป็นเมืองปิด คนที่จะเดินทางไปอำเภอป่าซางในยุคหลังจึงเป็นคนที่ตั้งใจมาเยือนป่าซางอย่างแท้จริง เศรษฐกิจที่เคยเฟื่องฟูก็ซบเซาลง ชื่อเสียงด้านงานหัตถกรรมในอดีตก็กำลังถูกลบเลือนไปจากคนรุ่นต่อ ๆ มา ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วอำเภอป่าซางมีศักยภาพในด้านศิลปวัฒนธรรมหัตถกรรมพื้นบ้าน หากได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเป็นที่รู้จักของคนเช่นในอดีต

ปัจจุบันอำเภอป่าซางเป็นอำเภอหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่อง “ผ้าฝ้ายทอมือป่าซาง” มีแหล่งผลิตที่เป็นชุมชนใหญ่อยู่ที่บ้านหนองเงือกและบ้านดอนหลวง ต.แม่แรง อ.ป่าซาง ซึ่งได้รับการสืบทอดวัฒนธรรม การทอผ้าจากบรรพบุรุษมาหลายชั่วอายุคน โดยนำผ้าทอมาทำการตกแต่งเครื่องเรือนประเภทผ้าคลุมเตียง ผ้าม่าน ปลอกหมอน ผ้ารองจาน ผ้าคลุมตู้เย็น ผ้าปูโต๊ะ พรมเช็ดเท้า ซึ่งทางจังหวัดลำพูนได้เข้าไปส่งเสริมในเรื่องของการทอผ้าฝ้ายและการแปรรูปผ้าฝ้ายทอมือมาโดยตลอด ทำให้ผ้าฝ้ายทอมือของอำเภอป่าซางเป็นงานหัตถกรรมที่สร้างรายได้สร้างอาชีพให้ชาวป่าซางเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายแปรรูปที่ตรงกับความต้องการของตลาดให้มากที่สุด

องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน มีนโยบายมุ่งเน้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตสร้างความเจริญด้านเศรษฐกิจระดับรากหญ้าจนถึงขนาดอุตสาหกรรมระดับชุมชน ซึ่งเป็นรากฐานความเข้มแข็งในชุมชน โดยเริ่มจากชุมชนใช้ทรัพยากรในชุมชนและภูมิปัญญาพื้นบ้านเป็นหลัก นอกจากนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนได้เล็งเห็นศักยภาพของอำเภอป่าซาง จึงได้จัดทำโครงการถนนสายหัตถกรรมวัฒนธรรมพื้นบ้าน ตามโครงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภายใต้โครงการพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ซึ่งได้ศึกษาแห่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีศักยภาพพร้อมสำหรับโครงการนำร่อง โดยได้เลือกบ้านดอนหลวง เป็นศูนย์กลางเนื่องจากเป็นแหล่งรวมผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย โดยประชาชนในพื้นที่เกือบทุกหลังคาเรือนมีอาชีพเกี่ยวกับการทอผ้าฝ้ายและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย จึงได้จัดทำโครงการถนนสายหัตถกรรมวัฒนธรรมพื้นบ้านขึ้นที่บ้านดอนหลวง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอป่าซางในรูปแบบของการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ เป็นต้นแบบให้กับแหล่งท่องเที่ยวอื่นในอำเภอป่าซางเพื่อนำเสนอการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิม พร้อมเผยแพร่งานหัตถกรรมที่เป็นภูมิปัญญาของชาวอำเภอป่าซางออกไปสู่ชาวไทยและต่างประเทศ

อบจ.ลำพูนเห็นว่า บ้านดอนหลวง มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ยังขาดแต่การส่งเสริมจากภาครัฐเท่านั้น ซึ่งชาวบ้านดอนหลวงยังคงดำรงวิถีชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมเอาไว้ ชาวบ้านภายในหมู่บ้านส่วนใหญ่ยังประะกอบอาชีพทำการเกษตรและการทอผ้าฝ้าย จากการสำรวจพบว่ามีครัวเรือนที่ประกอบอาชีพทอผ้าเป็นอาชีพหลักอยู่ถึง 50 ครัวเรือน กระจายไปทั่วหมู่บ้านรวมถึงยังมีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นมีสมาชิกกลุ่มที่เข้มแข็งและยังได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมประเภทการทอผ้าฝ้าย กลุ่มทอผ้าฝ้ายบ้านดอนหลวงแห่งนี้มิได้เป็นเพียงแหล่งผลิตเพื่อส่งผ้าฝ้ายทอมือไปขายตามสถานที่ต่างๆ เท่านั้น สมาชิกภายในกลุ่มยังได้ร่วมมือร่วมใจกันสนับสนุนโครงการนี้เพื่อต้องการให้โครงการสำเร็จลุล่วง เป็นช่องทางในการจำน่ายสินค้าและให้นักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นเดินทางมาเยือนบ้านดอนหลวงอีกด้วย

สำหรับการคัดเลือกบ้านดอนหลวงเป็นหมู่บ้านในโครงการนำร่องก็เพราะ บ้านดอนหลวงมีลักษณะทำเลที่ตั้งเหมาะสม คืออยู่ห่างจากตัวอำเภอป่าซางประมาณ 5 กิโลเมตร การคมนาคมสะดวกมีถนนคอนกรีตกว้างขวาง ระยะทางจากถนนสายป่าซาง – ลี้ ซึ่งเป็นถนนสายหลักในอดีตมาถึงปากทางเข้าหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร นอกจากนั้นบ้านดอนหลวงยังเป็นเสมือนเมืองหน้าด่านที่จะส่งต่อนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ใกล้เคียง อาทิ หมู่บ้านหัตถกรรมหนองเงือก โบราณวัดเกาะกลางชุมชนโบราณของชาวมอญ วัดพระพุทธบาทตากผ้า เป็นต้น

การจัดงานผ้าฝ้ายบ้านดอนหลวง ได้เริ่มดำเนินโครงการร่วมกับชาวบ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อเสริมสร้างให้เกิดความเข้าใจตรงกันในวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ โดยได้ยึดแนวคิดหลักที่จะนำทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่มาผสมผสานกันเพื่อพัฒนาอำเภอป่าซางให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ยั่งยืน มีการปรับภูมิทัศน์ตกแต่งสถานที่ โดยใช้ที่ทำการกลุ่มทอผ้าบ้านดอนหลวงเป็นจุดศูนย์กลางในการจำหน่ายสินค้าและบริการข้อมูลให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งนี้เพื่อเชื่อมโยงไปยังเครือยข่ายหมู่บ้านที่งานหัตถกรรมที่เป็นแหล่งผลิต ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมกรรมวิธีการผลิตซึ่งถือเป็นวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้านอยู่แล้ว รวมทั้งยังเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าในราคาผู้ผลิตโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

หลังจากที่โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการเสร็จสิ้นและพร้อมจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชม ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนจึงได้จัดเปิดตัวโครงการถนนสายหัตถกรรมวัฒนธรรมพื้นบ้านอำเภอป่าซาง โดยใช้ชื่องาน “แต่งสี อวดลาย ผ้าฝ้าดอนหลวง” เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์แห่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สร้างความสนใจแก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นแรงกระตุ้นให้ประชาชน ผู้ประกอบการ มีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของตนเองที่สามารถแปลงเป็นเศรษฐกิจชุมชนที่มั่นคงได้ และเกิดการรับผิดชอบต่อในผลงาน เป็นการใช้ทรัพยากรภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างมีคุณค่า
ทั้งนี้ยังมีการจัดงานต่างๆดังนี้
งานบาติกงามพร้อมมัดย้อมงามตางานผ้ากองงาม ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม 2562 ณ หน้าวัดป่าเหียง

งานแต่งสีอวดลาย ผ้าฝ้ายดอนหลวง ครั้งที่ 17 ระหว่าง 5-9 เมษายน 2562 ณ บ้านดอนหลวง

งานสืบสานตำนานฝ้ายงามหนองเงือก ครั้งที่ 13 ณ บ้านหนองเงือก

โดยกิจกรรมในงานจะเน้นไปที่รูปแบบของหมู่บ้านหัตถกรรมและวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตของคนป่าซาง ซึ่งแบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคกลางวันและภาคกลางคืน

กิจกรรมภาคกลางวันจะเชิญนักท่องเที่ยวให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านหัตถกรรม เช่น การทอผ้า ย้อมผ้า กวักฝ้าย สืบฝ้าย ทอผ้า ปักผ้าและเพนท์ผ้าด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นผลงานที่ประทับใจของนักท่องเที่ยวและสามารถซื้อกลับบ้านได้ ในด้านวัฒนะรรมประเพณี วิถีชีวิต จะมีการผูกข้อมือบายศรีจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน โดยมีการจำลองการใช้ชีวิตของคนป่าซางในอดีตไว้ และเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้าไปร่วมสัมผัสกับกิจกรรมดังกล่าว

กิจกรรมภาคกลางคืน มีการแสดงชุด แต่งสี อวดลาย ผ้าฝ้ายดอนหลวง การแสดงดนตรีโฟล์คซองของศิลปินล้านนาและการแสดงศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของนักเรียนโรงเรียนป่าซางพร้อมกับการแสดงของชาวบ้านในพื้นที่อำเภอป่าซางให้นักท่องเที่ยวได้รับชม

บ้านดอนหลวงถูกจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายในราคาส่ง มีผ้าฝ้ายหลากหลายลวดลายให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อทั่วหมู่บ้าน โดยเฉพาะตามบริเวณใต้ถุนบ้าน ซึ่งชาวเหนือเรียกว่า “กาดปื้นเฮือน” คือมีการนำสินค้ามาจำหน่ายใต้ถุนบ้านหรือบริเวณใกล้เคียง

งาน “แต่งสี อวดลาย ผ้าฝ้ายดอนหลวง” นอกจากจะให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิต ประเพณีดั้งเดิมในการทอผ้าของชาวบ้านดอนหลวงแล้ว งานดังกล่าวยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนรักผ้าทอทุกคนได้มาพบผู้ผลิตอย่างใกล้ชิดและเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์และจำน่ายสินค้าพื้นเมืองให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย

………………
กฤตยชญ์ พิงคะสัน ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดลำพูน รายงาน