Uncategorized ข่าว เพชรบูรณ์

กรมชลประทาน ขอเชิญเข้าร่วมปฐมนิเทศโครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำน้ำทิน จังหวัดเพชรบูรณ์

กรมชลประทาน ขอเชิญเข้าร่วมปฐมนิเทศโครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำน้ำทิน จังหวัดเพชรบูรณ์ วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2562 เวลา 08..30-12.00 น. ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์
ความเป็นมาของโครงการ
ตามที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสัก และพระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547 และวันที่ 25 สิงหาคม 2548 สรุปความได้ว่า “ควรพิจารณาวางโครงการเก็บกักน้ำตอนบนของลำน้ำสาขาแม่น้ำป่าสักไว้ให้มาก เพื่อใช้ด้านเกษตรและป้องกันอุทกภัย เนื่องจากน้ำเหนือเขื่อนป่าสักมีมาก ให้พิจารณาจัดเก็บกักให้เหมาะสม” ประกอบกับก่อนหน้านั้นราษฎรในพื้นที่ได้ประสานหน่วยงานราชการผ่านทางผู้แทนราษฎรเพื่อขอความช่วยเหลือจากการที่ราษฎรได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภคในฤดูแล้ง โดยได้ทำหนังสือถึงกรมชลประทาน เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2539 ขอให้สำรวจและจัดทำโครงการอ่างเก็บน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
กรมชลประทานได้พิจารณาศึกษารายละเอียดของโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำทิน ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 8 บ้านเขาขาด ตำบลตะเบาะ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ และจัดทำรายงานวางโครงการเบื้องต้น เมื่อ พ.ศ. 2540 และต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 กรมชลประทานได้จัดทำรายงานวางโครงการ (Pre-feasibility Study) โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำทิน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อเป็นข้อมูลและแนวทางดำเนินการต่อไป27 กันยายน 2562 กรมชลประทาน ลงนามสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินงานโครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำน้ำทิน จังหวัดเพชรบูรณ์
โครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำน้ำทิน จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง เมื่อก่อสร้างเสร็จสามารถเก็บกักน้ำได้ 15.68 ล้าน ลบ.ม. สามารถส่งน้ำช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่รับประโยชน์ฤดูฝนประมาณ 10,500 ไร่ และฤดูแล้ง 2,500 ไร่ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภค-บริโภคของราษฎรในเขตพื้นที่ตำบลตะเบาะและตำบลนำร้อน อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ รวมทั้งบรรเทาอุทกภัยจากน้ำป่าไหลหลากในฤดูน้ำหลากในพื้นที่
แต่เนื่องจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1A และ 1B จำนวน 77 ไร่ จึงเป็นโครงการที่เข้าข่ายประเภทและขนาดโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562 นอกจากนี้หัวงานและอ่างเก็บน้ำมีพื้นที่บางส่วนซ้อนทับอยู่ในเขตป่าเพื่อการอนุรักษ์ (C) หรือป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทินและป่าคลองตีบมากกว่า 500 ไร่ ตามมติ ครม.เกี่ยวกับป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (วันที่ 13 กันยายน 2537) โครงการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อนำเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อรายงาน และประกอบการพิจารณาอนุญาตใช้พื้นที่ก่อสร้างตามขั้นตอนต่อไป