ข่าวประชาสัมพันธ์

“ดร.ณัฐณิชาช์ เพิ่มทองอินทร์” สืบสาน เสน่ห์ชุดไทย สร้างวัฒนธรรมสวมใส่ชุดไทย ในต่างแดน

สืบเนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยราชการในพระองค์จัดงานฤดูหนาวขึ้นภายใต้ชื่อ “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” ที่พระลานพระราชวังดุสิต และสนามเสือป่า ระหว่างวันที่ 8 ก.พ.-11 มี.ค.61ที่ผ่านมาซึ่งถือเป็นครั้งที่ 1 และต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชานุญาตให้จัดงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” เป็นครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2561 – 19 มกราคม 2562 ณ พระลานพระราชวังดุสิต และสนามเสือป่า และได้พระราชทานพระราชานุญาต ให้จัดกิจกรรม ปั่นจักรยาน “Bike อุ่นไอรัก” ในโอกาสพิธีเปิดงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญในการรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย และเสริมสร้างความรักความสามัคคีในครอบครัวและสังคม ทั้งยังเป็นการปลุกกระแสนิยมไทยให้คึกคักอีกครั้ง และยังคืนความสุขให้ประชาชนชาวไทย น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นของในหลวงรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9 ที่ทรงปกครองดูแลชาติบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขจวบจนปัจจุบัน อีกทั้งปลุกกระแสความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมไทยและความเป็นไทยแก่คนไทยทั้งชาติ ที่สำคัญได้กระตุ้นจิตสำนึกในการร่วมอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยอันดีงามให้คงอยู่สืบไป โดยเฉพาะการแต่งกายชุดไทย


​นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ของพสกนิกรชาวไทย และนำมาซึ่งความปลาบปลื้มใจ อิ่มเอมใจ ภาคภูมิใจ มีความสุขใจของประชาชนคนไทยถ้วนทุกคน ที่มีโอกาสได้สวมใส่ชุดไทย และร่วมกันสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยอันดีงามไปสู่สายตาชาวโลก และหนึ่งในประชาชนไทย ที่ผู้เขียนคอลัมย์ได้ผ่านไปเห็นในหน้าเฟสบุ๊ค(Facebook) ก็คือ “ดร.ณัฐณิชาช์ เพิ่มทองอินทร์” ผู้ซึ่งมีความตั้งใจในการสวมใส่ผ้าไทย และชุดไทยในทุกๆ วัน โดยมี “โครงการสืบสานสวมใส่ผ้าไทยในศาสนสถาน และต่างประเทศ” เป็นสิ่งที่ ดร.ณัฐณิชาช์ฯ มีความมุ่งมั่นที่จะเดินสายทุกวัน โดยไม่มีวันหยุดในการกราบสักการะ พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จำนวน 33,902 วัด เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
​ดร.ณัฐณิชาช์ฯ กล่าวว่า “การที่ทุกวันของคุณแม่ตื่นมาต้องใส่ชุดไทยอกจากบ้าน เพื่อเข้าวัดทำบุญ รวมถึงการทำภารกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม จากที่สมัยก่อนต้องออกงานตามสามี การแต่งกายเพื่อออกงานเราก็นิยมใส่ผ้าไหมออกงาน และผ้าไหมของประเทศไทยเราก็จะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค เช่น ผ้ายก จ.ลำพูน, ผ้าไหมไทย จ. สุรินทร์, ผ้ากาบบัว จ.อุบลราชธานี เป็นต้น”

“การใส่ผ้าไทยทำให้เกิดภูมิปัญญาไทย ทั้งยังมีการอนุรักษ์ผ้าไทย และทำให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ โดยสิ่งที่เกิดกระแสทางสังคมที่เราสัมผัสได้ คือ การได้ใส่ชุดไทยไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ทุกครั้งที่เราเดินทางไปต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น พม่า กัมพูชา เป็นต้น และที่ผ่านมาที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น โดยการแต่งกายด้วยชุดไทยของคุณแม่ทำให้ชาวรัสเซีย ชาวออสเตรเลีย เข้ามาขอถ่ายรูปประมาณหนึ่งว่าเราเป็นคนดัง หากแต่เพียงเพราะว่าเราใส่ชุดไทยที่สวยงาม ประณีต วิจิตรตา สิ่งนี้แหละที่ทำให้คุณแม่ภาคภูมิใจ ที่ชาวต่างชาติมองเราด้วยความชื่นชม ตื้นตันใจเป็นอย่างมาก ทำให้เรารู้สึกเกิดความปลาบปลื้มใจขึ้นมาทันที เพราะชุดไทยที่เราสวมใส่”

“ในทุกๆวันของคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าวัด หรือแม้แต่ศาสนสถานต่างๆ เราใส่ชุดไทยเป็นประจำอยู่แล้ว ทำให้เราไม่เคอะเขิน เราจึงใส่ชุดไทยได้แบบอัตโนมัติ เวลาที่เราได้ใส่ชุดไทยความรู้สึกเหมือนกับว่าเรา “องค์ลง สวย สง่า มือประสานกัน หน้าเชิด อกตรง บุคลิกภาพหลังตรง ยิ้มสวยๆ ทันที” ซึ่งนี่แหละ คือ เสน่ห์ของผ้าไทย และการที่เราได้ใส่ผ้าไทย ชุดไทยไปวัดในทุกวันๆ ตามวัยของคุณแม่เอง โดยถือว่าเราได้เป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นหลัง ดำรงความเป็นไทยไว้ อีกอย่าง ผ้าไทยไม่ได้แพงอย่างที่คิด “อะไรที่เป็นผ้าและเป็นฝีมือของคนไทย เราคนไทยก็น่าจะช่วยกัน “อนุรักษ์ สนับสนุน ส่งเสริม” ”

“ทุกวันนี้ไม่มีวันไหนเลยที่จะไม่ใส่ผ้าไทย ชุดไทยเข้าศาสนสถานเพราะตั้งใจ ทำบุญ ไหว้พระ เพื่อกราบสักการะ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตั้งใจไว้จะทำให้ครบ จำนวน 33,902วัด เป็นเป้าหมายที่อยากทำให้ครบ สิ่งที่ทำแบบนี้ทำให้จิตใจเราเย็นสบาย มองโลกในแง่บวก มองทุกคนเป็นคนดี เป็นมิตรเสมอ” จนเกิดแฮ็ชแท็ค #การให้มีความสุขเสมอ #ทำบุญ ทำทาน ทำความดี # ใครใครก็ทำได้ค่ะ และนี่คือ หนึ่งในคนไทยที่รักและหลงใหลในผ้าไทย และการสวมใส่ชุดไทย ในทุกๆ วัน อย่างแท้จริง “ดร.ณัฐณิชาช์  เพิ่มทองอินทร์” ผู้สืบสาน สวมใส่ ผ้าไทยในศาสนสถาน และต่างประเทศ หนึ่งในตัวอย่างที่ดีของผู้อนุรักษ์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ซึ่งผู้เขียนคอลัมย์ คงต้องแอบเข้ามาดูเฟสบุ๊ค ของ ดร.ณัฐณิชาช์ฯ ต่อไปว่า ในงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” ครั้งที่ 2 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ดร.ณัฐณิชาช์ฯ จะมีการสวมใส่ชุดไทย ในรูปแบบไหน เป็นไปตามช่วงสมัยใดบ้าง และจะสวมใส่ชุดไทยไปที่ประเทศไหนอีกบ้าง เรามาติดตามไปด้วยกันนะคะ…