ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวรอบรั้วภูธร เกษตรกร

นักวิจัยสาขาปฐพีศาสตร์ ม.แม่โจ้ รับรางวัลนำเสนอผลงานวิจัยระดับ “ดีมาก” ในงานประชุมวิชาการดินและปุ๋ยแห่งชาติ ครั้งที่ 6

นักวิจัยสาขาปฐพีศาสตร์ ม.แม่โจ้ รับรางวัลนำเสนอผลงานวิจัยระดับ ดีมาก ในงานประชุมวิชาการดินและปุ๋ยแห่งชาติ ครั้งที่ 6


ทีมงานนักวิจัย สาขาปฐพีศาสตร์ คณะผลิตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เข้าร่วมประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานวิจัย ในการประชุมวิชาการดินและปุ๋ยแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พร้อมรับรางวัลการนำเสนอผลงานวิจัยระดับ “ดีมาก” ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2562


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จีราภรณ์ อินทสาร ประธานหลักสูตร สาขาปฐพีศาสตร์ คณะผลิตกรรมการเกษตร กล่าวว่า “ทางสาขาปฐพีศาสตร์ ได้นำทีมคณาจารย์ นักวิชาการ และนักศึกษาปริญญาโท ของสาขาฯ เข้าร่วมประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานวิจัย ในการประชุมวิชาการดินและปุ๋ยแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดโดย สมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยกำหนด แก่นสาระ (Theme) ของการประชุม ครั้งนี้ว่า “ดิน : กำเนิดของอาหารเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (Soils : where nutrition starts for health and environment)” มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ส่งผลงานเข้าร่วมจำนวน 4 ผลงาน คือภาคบรรยาย 2 ผลงาน และภาคโปสเตอร์ 2 ผลงาน ซึ่งการนำเสนอผลงาน เรื่อง “การตอบสนองของอ้อยต่อ FGD ยิปซัมในดินภาคเหนือและดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ผลงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฏิภาณ สุทธิกุลบุตร และคณะ ได้รับรางวัลการนำเสนอผลงานวิจัยระดับ “ดีมาก”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฏิภาณ สุทธิกุลบุตร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ผลงานวิจัยเรื่อง “การตอบสนองของอ้อยต่อ FGD ยิปซัมในดินภาคเหนือและดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การขยายผลการวิจัยสู่การใช้ FGD ยิปซัมในอุตสาหกรรมน้ำตาล” (ปี 2559-2562) ซึ่งได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยได้ทดลองใส่ FGD ยิปซัมในแปลงอ้อยจำนวน 12 แปลงในพื้นที่ 11 จังหวัด ที่เป็นดินกรด และเนื้อดินเป็นดินร่วนทราย และใส่ FGD ยิปซัม อัตรา 1 ตันต่อไร่ พบว่า การใส่ FGD ยิปซัมในดินส่งเสริมทำให้อ้อยมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5 – 4 ตันต่อไร่ (7-30 %) และอ้อยมีความหวานเพิ่มขึ้น 2-3 Brix ทำให้เกษตรกรได้รับผลกำไรมากขึ้น สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้อย่างมั่นคง”

สำหรับผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้ดำเนินการทดลองในแปลงปลูกมานาน 5 ปี และพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร ท่านที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฏิภาณ สุทธิกุลบุตร โทร.0979189981.

ทรงวุฒิ ทับทอง