ข่าวการศึกษาและไอที ข่าวรัฐสภา

รมช.ศธ. ลงพื้นที่ขับเคลื่อนโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ที่ รร.ชุมชนบ้านสี่แยก สพป.นศ.2

รมช.ศธ. ลงพื้นที่ขับเคลื่อนโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School)
ที่ รร.ชุมชนบ้านสี่แยก สพป.นศ.2

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ที่โรงเรียนชุมชนบ้านสี่แยก อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปรีชา สุนทรานันท์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการ นายสนิท แย้มเกษร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิ วีระไวทยะ นายสุรพล เพชรวรา อดีตเอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐชิลี ประธานร่วมโรงเรียนมีชัยพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ ตัวแทนสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน จ.กระบี่ คณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการศึกษารูปแบบ Partnership School เพื่อรองรับการขับเคลื่อนการปฏิรูปตามการศึกษานโยบาย THAILAND 4.0 นายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายบุญเลิศ ธานีรัตน์ ผอ.สพป.นศ.2 พร้อมผู้บริหารการศึกษาระดับจังหวัด ดร.กันตพงศ์ คงหอม ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู ผู้ปกครอง นักเรียน ตลอดจนผู้นำชุมชน ให้การต้อนรับและประชุมหารือร่วมกันเพื่อสร้างความเข้าใจสู่โรงเรียนรมช.ศธ. กล่าวว่า โครงการ Partnership School เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโรงเรียนสานพลังประชารัฐ ซึ่งสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 “รัฐเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา” เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการบริหารจัดการ ร่วมพัฒนา และสนับสนุนสถานศึกษาภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นการพัฒนาคุณภาพและนวัตกรรมการจัดการศึกษาให้โรงเรียนสามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตให้แก่ผู้เรียนเป็นอย่างดี และสำหรับโรงเรียนชุมชนบ้านสี่แยก ถือเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่มีความสำเร็จและความก้าวหน้าในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบหลักสูตรที่มีความเชื่อมโยงกับบริบทเชิงพื้นที่ โดยเน้นทั้งวิชาการและวิชาชีพ พร้อมมีแหล่งเรียนรู้ที่โดดเด่น การทำเกษตรกรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างแหล่งเรียนรู้ตามธรรมชาติในชุมชนได้อย่างน่าสนใจ
โดยหลักการของการดำเนินการโรงเรียนร่วมพัฒนา มีเป้าหมายตอบโจทย์บริบทของพื้นที่ เชื่อมโยงกับชุมชนจริง ๆ และรองรับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี จะทำให้ได้ต้นแบบที่มีความเข้มแข็ง ก่อนที่จะขยายไปสู่โรงเรียนอื่นอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในส่วนของระบบบริหารจัดการ กระทรวงศึกษาธิการมีความพยายามปรับให้เป็นระบบพิเศษ โดยให้โรงเรียนในโครงการขึ้นตรงกับเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภายใต้การสนับสนุนดูแลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศึกษาธิการจังหวัดเช่นเดิม พร้อมปลดล็อคกฎระเบียบเพื่อให้เกิดความคล่องตัว และมุ่งผลสัมฤทธิ์การศึกษาอย่างจริงจัง สิ่งที่คาดหวังคือ การปรับตัวของผู้บริหารและครู ด้วยกระบวนการทำงานและการเรียนแบบใหม่ นอกจากจะต้องเน้นการเรียนด้วยการตั้งคำถาม และการปฏิบัติจริงแล้ว รูปแบบการเรียนแบบไม่เป็นทางการก็เป็นสิ่งสำคัญ ต่อการปรับตัวรองรับการเรียนรู้แบบออนไลน์ ผ่านสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมความต้องการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามความสนใจ โดยไม่ต้องใช้เวลาเรียนแบบเป็นทางการเรียนถึง 4 ปี เพราะในเรื่องของความรู้ในปัจจุบันสามารถเรียนรู้ได้ทันกันหมดแล้ว เด็กไม่จำเป็นต้องมาเรียนรู้กับครูในห้องเรียนทั้งหมด ดังนั้น การปรับตัวในเรื่องของจัดการเรียนการสอนให้ทันยุคทันสมัย
จะช่วยเตรียมคนของเราให้เติบโตและอยู่รอดในโลกอนาคตได้ ในส่วนของโรงเรียนอื่น ๆ ในพื้นที่นี้ ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ก็สามารถนำแนวคิดของโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาไปปรับปรุงพัฒนาไปพลางก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมผลักดันตัวเองเข้าร่วมโครงการในปีต่อไป รมช.ศธ.กล่าวด้านนายมีชัย วีระไวทยะ กล่าวว่า มูลนิธิมีชัยวีระไวทยะร่วมกับ IKEA Southeast Asia
ได้ให้การสนับสนุนโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา โรงเรียนชุมชนบ้านสี่แยก เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาให้ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการส่งเสริมด้านศีลธรรมจริยธรรม การพัฒนาตนเองและสภาพแวดล้อมอื่น ๆ โดยการดึงชุมชนที่มีความเข้มแข็งร่วมพัฒนาโรงเรียน โดยทาง มูลนิธิมีชัยวีระไวทยะ ได้ส่งบุคลากรเข้ามาร่วมทำงาน
ร่วม คิด ร่วมวางแผนเพื่อกำหนดทิศทาง และสิ่งหนึ่งที่ต้องการเห็นคือความร่วมมือจากชุมชนเป็นหลัก ผสานกับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ที่จะช่วยกันสร้างภาพความสำเร็จให้เกิดขึ้นต่อตัวนักเรียนต่อไป
ส่วน ผอ.สพป.นศ.2 กล่าวว่า มีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่โรงเรียนชุมชนบ้านสี่แยก สังกัด สพป.นศ. 2 โดยมี ดร.กันตพงศ์ คงหอม เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จึงเป็นโอกาสที่ดีอีกครั้ง ที่ทุกภาคส่วนจะได้มาช่วยพัฒนาการศึกษา ส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนให้ดียิ่งขึ้น โดย สพป.นศ.2 ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาให้นักเรียน เกิดการปรับตัวให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน พร้อมนำหลักคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ยุค Thailand 4.0 มาปรับใช้ให้เหมาะกับศักยภาพของเด็กในบริบทต่าง ๆ ด้วย ซึ่งผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาถือเป็นผู้นำสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

ภาพ/ข่าว กฤษรชฏะชญตว์ กฤษพิพัฒนโภคิน ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน