ข่าวประชาสัมพันธ์ เกษตรกร

กรมส่งเสริมการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรเฝ้าระวังหนอนกระทู้ข้าวโพด

กรมส่งเสริมการเกษตรแจ้งเตือนเกษตรกร ในพื้นที่แนวชายแดนสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงรายและตาก ให้เฝ้าระวังการระบาดของหนอนกระทู้ fall armyworm (FAW) ในพื้นที่ปลูกข้าวโพด หนอนกระทู้ fall armyworm (FAW)
ชื่อสามัญ : fall armyworm ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spodoptera frugiperda (J.E. Smith) อันดับ : Lepidoptera วงศ์ Noctuidae

หนอนกระทู้ fall armyworm เป็นศัตรูพืชสำคัญของข้าวโพด พบกระจายอยู่ทั่วไปในทวีปอเมริกา แพร่ระบาดเข้าสู่ทวีปแอฟริกาในปี 2559 และรายงานการระบาดในอินเดียในปี 2561
วงจรชีวิตหนอนกระทู้ fall armyworm

หนึ่งรอบวงจรชีวิตของหนอนกระทู้ fall armyworm ใช้เวลาประมาณ 30 – 40 วัน เมื่อผสมพันธุ์แล้ว เพศเมียจะวางไข่ในเวลากลางคืน โดยวางไข่เป็นกลุ่มใต้ใบพืช แต่ละกลุ่มจะมีไข่ประมาณ 100 – 200 ฟอง และมีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม เพศเมียหนึ่งตัววางไข่ได้ประมาณ 1,500-2,000 ฟอง ระยะไข่ 2-3 วัน หนอนมี 6 วัย ระยะหนอน 14-22 วัน หนอนที่โตเต็มมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 3.2-4.0 ซม. หนอนจะทิ้งตัวลงดินเพื่อเข้าดักแด้ ระยะดักแด้ 7-13 วัน จึงออกเป็นตัวเต็มวัยและมีชีวิตอยู่ได้ 10-21 วัน ตัวเต็มวัยสามารถบินได้เฉลี่ย 100 กิโลเมตรต่อคืน

ลักษณะการเข้าทำลาย
การทำลายพืชเกิดขึ้นในระยะที่เป็นตัวหนอนเท่านั้น หนอนจะระบาดทำลายข้าโพดตั้งแต่อายุประมาณ 7 วัน จนกระทั่งออกฝัก โดยกัดกินยอดและใบข้าโพดแหว่งหรือกัดกินทั้งแผ่นใบ และจะพบตัวหนอนหลบซ่อนแสงอยู่ที่ยอดหรือโคนกาใบข้าวโพด ความเสียหาที่เห็นได้ชัดคือ ในระยะต้นอ่อนทำให้พืชตาย ระยะต้นแก่พืชจะไม่เจริญเติบโต ฝักลีบเล็กไม่สมบูรณ์ หากระบาดรุนแรงจะทำให้ผลผลิตเสียหาย 73% ของพื้นที่

พืชอาหารหนอนกระทู้ fall armyworm มีพืชอาหารมากกว่า 80 ชนิด ซึ่งนอกจาข้าวโพดแล้ว ยังมีพืชอาศัยอื่นที่เป็นแหล่งอาหาร เช่น ข้าว อ้อย ข้าวฟ่าง ข้าวสำลี มะเขือเทศ มันฝรั่ง ยำสูบ ฝ้าย ทานตะวัน กล้วย กระเทียม ขิง มันหวาน พริกหยวก พืชวงศ์กะหล่ำ พืชวงศ์แตง พืชวงศ์ถั่ว พืชวงศ์หญ้า และพืชผักอีกหลายชนิด

การจำแนกชนิดหนอนกระทู้ fall armyworm ระยะหนอน ส่วนบนของหัวมีแถบสีขาวเป็นรูปตัว Y หัวกลับ หลังและด้านข้างมีแถบสีขาวตามยาวลำตัว ปล้องท้องก่อนปล้องสุดท้ายมีจุดสีดำ 4 จุด เรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตัวเต็มวัยมีขนาด 3.2-4.0 ซม มีแถบสีขาวที่ขอบปีกคู่หน้า กลางปีกมีแถบลักษณะเป็นวงรีสีน้ำตาล เพศเมียมีสีและลวดลายจางกว่าเพศผู้

การป้องกันกำจัดหากพบการทำลาย 20 % ในข้าวโพดต้นอ่อน (7-60 วัน) และ 40 % ในข้าวโพดต้นแก่ (60 วัน-เก็บเกี่ยวผลผลิต) ให้ดำเนินการ หาวิธีป้องกันกำจัดที่เหมาะสม

1.การใช้สารเคมี สารฆ่าแมลง สารฟลูเบนไดอะไมด์ (flubendiamide) 20% WG อัตรา 6 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอแรนทรำนิลิโพรล (chlorantraniliprole) 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารลอร์ฟีนาเพอร์ (chlorfenapyr) 10% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอินดอกซาคาร์บ (indoxacarb) 15% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ควรพ่นสารฆ่าแมลงทุก 7 วัน ติดต่อกัน 2-4 ครั้ง และต้องสลับกลุ่มสารทุก 30 วัน (1 วงรอบชีวิต) เพื่อลดความต้านทานสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชของหนอนกระทู้ fall armyworm

2.การใช้ชีววิธี 1) เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัสทูริงเจนซิส สายพันธุ์ไอซาไว หรือสายพันธุ์เคอร์สตำกี้ (Bacillus thuringiensis var. aizawai, Bacillus thuringiensis var. kurstaki) ชนิดผง อัตรา 40-80 กรัม/ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 4-7 วัน เมื่อพบการระบาด
2) แมลงหางหนีบ 3) มวนพิฆาต และมวนเพชฌฆาต

นายนเรศ ฝีปากเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าในส่วนของ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้กำหนด 3 มาตรการ ในการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ fall armyworm ได้แก่ มาตรการที่ 1 การเฝ้าระวังก่อนเกิดการระบาด โดยสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกร ดำเนินการสำรวจและรายงาน มาตรการที่ 2 การป้องกันและควบคุมการระบาด และมาตรการที่ 3 การให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดความเสียหาย

สำหรับสถานการณ์การเฝ้าระวังและสำรวจ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ในพื้นที่ปลูกข้าวโพด 147,359 ไร่ พบการระบาด 1,242 ไร่ คิดเป็นร้อยละของพื้นที่การระบาด 0.82 (ตัดยอด วันที่ 25 ธันวาคม 2561) โดยแยกรายจังหวัด ดังนี้ จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ปลูก 3,769 ไร่ พบการระบาด 235 ไร่ คิดเป็นร้อยละของพื้นที่การระบาด 6.23, เชียงราย พื้นที่ปลูก 50,253 ไร่ พบการระบาด 350 ไร่ คิดเป็นร้อยละของพื้นที่การระบาด 0.70, ลำพูน พื้นที่ปลูก 2,387 ไร่ ไม่พบการระบาด, ลำปาง พื้นที่ปลูก 12,878 ไร่ พบการระบาด 80 ไร่ คิดเป็นร้อยละของพื้นที่การระบาด 0.62, พะเยา พื้นที่ปลูก 15,000 ไร่ พบการระบาด 35 ไร่ คิดเป็นร้อยละของพื้นที่การระบาด 0.23, จ.แพร่ พื้นที่ปลูก 45,569 ไร่ พบการระบาด 32 ไร่ คิดเป็นร้อยละของพื้นที่การระบาด 0.07, จ. น่าน พื้นที่ปลูก 17,503 ไร่ พบการระบาด 510 ไร่ คิดเป็นร้อยละของพื้นที่การระบาด 2.91และจ.แม่ฮ่องสอน ไม่พบการระบาด

โดยสรุปในภาพรวมขณะนี้ จากการดำเนินการเฝ้าระวัง การสำรวจและการป้องกัน สามารถควบคุมการระบาดได้และทางศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านอารักขาพืช(ศทอ.)เชียงใหม่ได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัด ดำเนินการสร้างการรับรู้แก่เกษตรกรในการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ fall armyworm และแนะนำการป้องกันกำจัด พร้อมนี้เมื่อเกษตรกรพบการระบาด ให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ/จังหวัดในพื้นที่ เพื่อจะได้ดำเนินการต่อไป.