Uncategorized

ปปส.ภาค7 ฝึกทักษะครูสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในเด็กปฐมวัยเขตจังหวัดประจวบฯ

ภาพ/ข่าว: เอกภพ วงษ์ประเสริฐ (นักข่าวบ้านนอก) จ.ประจวบ 089-6645534
ปปส.ภาค7 ฝึกทักษะครูสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในเด็กปฐมวัยเขตจังหวัดประจวบฯ
เมื่อเวลาประมาณ 09.30 น.วันที่ 9 มิ.ย.61 ผู้สื่อข่าวรายงานที่โรงแรมเกาะหลักรีสอร์ท ถ.ปิ่นอนุสรณ์ ต.ประจวบคีรีขันธ์ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ พันเอก กรกานต์ นาเวชวนิชกุล รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมพัฒนาครูผู้สอนและครูผู้ดูแลเด็กเพื่อการเสริมสร้างภุมิคุ้มกันยาเสพติดในเด็กปฐมวัยในพื้นที่ภาค 7 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประจำปี พ.ศ.2561

โดยมี นางวรรณภา แก้วอยู่ ผอ.ส่วนยุทธศาสตร์ ปปส.ภาค 7 นายนิมิต นันตา รักษาราชการแทน ผอ.ส่วนประสานพื้นที่ ปปส.ภาค 7 นายสุนทร ชื่นศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 7 นายศราวุธ อินทะเสม นักส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นชำนาญการพิเศษ สนง.ท้องถิ่นจังหวัดประจวบฯ นายประมุข สัจจวิเศษ หน.ฝ่ายอำนวยการศูนย์ยาเสพติดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เข้าร่วมเป็นเกียรติ ซึ่งมีผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน ครูผู้ดูแลเด็กและครูพี่เลี้ยงเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 400 คน

โดยในกิจกรรมเป็นการพัฒนาครูผู้สอนและครูผู้ดูแลเด็กในชั้นปฐมวัยให้มีความรู้ความเข้าใจในการสร้างความเข้าใจให้กับเด็กเยาวชนให้ห่างไกลยาเสพติด และตระหนักถึงโทษและพิษภัยจากยาเสพติด ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในเชิงการป้องกันยาเสพติด โดยเฉพาะครูที่มีความใกล้ชิดกับเด็กนักเรียนในระดับปฐมวัย อนุบาลศึกษา และเด็กเล็กก่อนวัยเรียน เขตสำนักงาน ป.ป.ส.ภาค 7

ดังนั้นสำนักงาน ป.ป.ส.ภาค 7 จึงสนับสนุนการให้ความรู้ ฝึกทักษะ ตลอดทั้งองค์ความรู้ด้านพัฒนาการของร่างกาย สมอง สติปัญญาด้วยทฤษฎี Executive Functions (EF) ควบคู่กับการวางพื้นฐานในการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ของเด็ก เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมย์ สังคม และความสนใจใฝ่รู้อย่างมีคุณภาพ พร้อมทั้งจัดทำแผนงานการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในกลุ่มเด็กปฐมวัยให้มีความเข้มแข็งทั้งด้านร่างกาย โดยเฉพาะสมอง จิตใจ และสติปัญญา อันจะช่วยให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในระยะยาว ให้อนาคตของชาติห่างไกลจากยาเสพติดและอบายมุข ตลอดทั้งปัญหาสังคมและด้านอื่น ๆ ไปตลอดชีวิต

นอกจากนี้ยังเสริมสร้างเสนอแนะแนวทางตามกระบวนการเรียนรู้ในเนื้อหา การจัดกิจกรรม การประเมินผลด้วยชุดสื่อต้นแบบพัฒนาสมองในเด็กสำหรับครูปฐมวัย พร้อมทั้งร่วมกันจัดทำแผนการสอนเพื่อนำไปสู่การถ่ายทอดให้กับเพื่อนครูเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในเด็กปฐมวัยได้อย่างเหมาะสมและสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศในระยะยาว ให้พลเมืองมีคุณภาพ มีภาวะผู้นำ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้เป็นไปในแนวทางที่เหมาะสม สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงประเทศที่มีอยู่ตลอดเวลา ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรณ์มนุษย์ที่มีภูมิคุ้มกันอย่างเข้มแข็ง ภายใต้สิ่งยั่วยุและสิ่งเร้าที่ขัดต่อศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีของชาติอีกด้วย
พันเอก กรกานต์ นาเวชวนิชกุล รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดประจวบฯ ประธานกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหายาเสพติด โดยสภาพปัญหาได้เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะการณ์ของโลกในยุคปัจจุบัน เด็กและเยาวชนเริ่มใช้ยาเสพติดมีอายุน้อยลง เนื่องมาจากความอยากรู้ อยากลอง สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดยาเสพติด เช่น ที่พักอาศัยอยู่ในแหล่งชุมชน สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสใช้ยาเสพติดได้ง่าย รวมทั้งความซับซ้อนของสังคมทำให้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดมีความยากลำบากยิ่งขึ้น เนื่องด้วยเด็กในช่วงปฐมวัยอายุ 3-6 ปี เป็นช่วงที่มีอัตราการพัฒนาทักษะสมองได้ดีที่สุด หากเด็กในช่วงวัยนี้ได้รับการส่งเสริมทักษะที่ช่วยกระตุ้นให้สมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นส่วนที่บ่งบอกลักษณะนิสัยของมนุษย์ ทำหน้าที่ควบคุมความคิด ความต้องการของตนเอง ใช้การคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และวางแผนจัดการสิ่งต่างๆอย่างมีเหตุผล ความสามารถของสมองที่ใช้บริหารจัดการชีวิตในเรื่องต่างๆได้อย่างเป็นลำดับ เป็นขั้นตอน ก็จะมีผลต่อความสำเร็จในชีวิต ทั้งการงาน การเรียน และการใช้ชีวิตของเด็ก/////////////////