ข่าวเชียงใหม่

รมว.พม. ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ชู “ข่วงเปาโมเดล” ต้นแบบงานพัฒนาสังคมแบบบูรณาการของคนทุกช่วงวัย

รมว.พม. ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ชู “ข่วงเปาโมเดล” ต้นแบบงานพัฒนาสังคมแบบบูรณาการของคนทุกช่วงวัย

วันนี้ (14 ม.ค. 62) เวลา 10.30 น. พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม
และความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง พม. และทีม พม. One Home จังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพบปะเยี่ยมเยียนและรับฟังข้อเสนอแนะและความต้องการของประชาชน อีกทั้งติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. ในพื้นที่ตามนโยบายของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ 

 

 

 

พลเอก อนันตพร กล่าวว่า รัฐบาล โดยกระทรวง พม. มีภารกิจหลักในการรับผิดชอบประชาชนกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย ตั้งแต่ เด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งราษฎรบนพื้นที่สูง โดยมุ่งเน้นการสนับสนุน พัฒนา ช่วยเหลือ และดูแลประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายได้รับสวัสดิการของรัฐอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 1 ของภาคเหนือ และเป็นอันดับ 2 ของประเทศ อีกทั้งเป็นจังหวัด ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และการลงทุน จนมีการพัฒนาเติบโตอย่างรวดเร็ว จนเป็นเมืองเศรษฐกิจใหญ่ อันดับ 2 ของประเทศ รองจากกรุงเทพมหานคร อีกยังมีแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรมมากมาย ทั้งนี้ การลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้ มีการพบปะเยี่ยมเยียนและรับฟังข้อเสนอแนะและความต้องการของประชาชน ณ องค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพื้นที่ตำบลข่วงเปา เป็นพื้นที่ที่ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการบูรณาการพัฒนาคนทุกช่วงวัยร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งในระดับจังหวัดและในพื้นที่ โดยใช้ฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย GPS มาวิเคราะห์ในการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหา ด้วยกลไกขับเคลื่อนทุกช่วงวัย ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกระดับและมีหลักสูตรบริหารจัดการเชิงพื้นที่ อีกทั้งมีการตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนตำบลบูรณาการทุกช่วงวัย และมอบงบประมาณบ้านพอเพียงชนบทปี 2562 จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 216 หลัง

 

อีกทั้งเป็นประธานพิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวระดับตำบล (ศปก.ต.) และ เยี่ยมชมบูธกิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมสภาเด็กและเยาวชน การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม การพัฒนาเด็กปฐมวัยแบบบูรณาการ การสืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนา การสาธิตการทำและแสดงผลิตภัณฑ์ ระบบการดูแลคนไร้ที่พึ่งในชุมชน (LTC : Long Term Care) ธนาคารความดี การส่งเสริมการออมในผู้สูงวัย การบูรณาการโครงการบ้านมั่นคงและบ้านพอเพียง และการบริการให้ยืมกายอุปกรณ์สำหรับคนพิการ เป็นต้น พลเอก อนันตพร กล่าวต่อไปว่า จากนั้น ได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของข่วงเปาโมเดล บ้านหนองปุ๊ หมู่ 18 ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ 1) เศรษฐกิจพอเพียง 2) บ้านมั่นคงชนบท และ 3) ศูนย์คนไร้ที่พึ่งระดับตำบล ซึ่งการดำเนินงานของพื้นที่ดังกล่าว มีการขับเคลื่อนงานแบบบูรณาการที่เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ดังนี้ 1) เด็กแรกเกิด – ปฐมวัย มีเด็กได้รับสวัสดิการ เด็กแรกเกิดจำนวน 65 คน เด็กช่วงอายุ 2 – 5 ปี ได้รับการพัฒนาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลข่วงเปา จำนวน 70 คน 2) สภาเด็กและเยาวชนตำบล มีคณะบริหาร จำนวน 21 คน สมาชิกจำนวน 235 คน เป็นเครือข่ายเด็กและเยาวชนจังหวัด 15 เครือข่าย 3) สตรีและครอบครัว มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนตำบล ซึ่งมีคณะกรรมการจำนวน 21 คน สมาชิก จำนวน 122 คน และเตรียมยกระดับเป็นศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวระดับตำบล (ศปก.ต.) 4) ผู้ด้อยโอกาส มีการจัดตั้งศูนย์คุ้มครอง คนไร้ที่พึงตำบลข่วงเปา เพื่อช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่งและขอทานในพื่นที่ อบต. ข่วงเปา และบ้านมั่นคงเมืองและชนบท “ข่วงเปาโมเดล” ซึ่งดำเนินการ จำนวน 329 ครอบครัว ใน 5 ชุมชน 5) วัยแรงงาน มีจำนวน 3,890 คน และมีกลุ่มอาชีพ จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางเกษตร กลุ่มเย็บผ้า ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย และกลุ่มเกษตรปลอดสารพอเพียง 6) คนพิการ มีการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไป มีคณะกรรมการศูนย์ฯ จำนวน 17 คน สมาชิกเครือข่าย จำนวน 53 คน 7) ผู้สูงอายุ มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุตำบลต้นแบบระดับประเทศ ด้วยนวัตกรรม “การส่งเสริมการออม” เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความมั่นคงในชีวิตในระยะยาว และโรงเรียนคลังปัญญาผู้สูงวัย และ 8) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลข่วงเปา ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2553 มีคณะกรรมการจำนวน 11 คน สมาชิก จำนวน 628 คน ปัจจุบันมีเงินกองทุน จำนวน 687,663 บาท โดยจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก ได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย และสวัสดิการอื่น ๆ

พลเอก อนันตพร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการรณรงค์และป้องกันความรุนแรง
ในทุกรูปแบบ ภายใต้ชื่อ “สังคมไทยไร้ความรุนแรง” โดยในปีงบประมาณ 2562 มีการกำหนดให้เรื่องดังกล่าวเป็น 1 ใน 13 โครงการสำคัญ (Flagship) ของกระทรวง พม. ที่ทุกส่วนราชการจำเป็นต้องร่วมกันบูรณาการและขับเคลื่อนงาน เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมไร้ความรุนแรง โดยระดับพื้นที่มีการผลักดันให้เกิดตำบลต้นแบบไร้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ ด้วยการตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำ ความรุนแรงในครอบครัวระดับตำบล (ศปก.ต.) ซึ่งการลงพื้นที่ในวันนี้ ตนได้เป็นประธานในพิธีเปิด ศปก.ต. ของตำบลข่วงเปา อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ทุกคนในชุมชมได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในสังคม โดยเริ่มต้นจากครอบครัว ทั้งนี้ ขอขอบคุณทุกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ร่วมกันขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคมแบบบูรณาการของ คนทุกช่วงวัย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมั่นคงและยั่งยืน อย่างไรก็ตาม หากประชาชนในพื้นที่พบเห็นหรือประสบปัญหาทางสังคม ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว หรือต้องการฝึกทักษะพัฒนาอาชีพ สามารถขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง ซึ่งกระทรวง พม. พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการช่วยเหลืออย่างเต็มทีต่อไป

 

 

######################################