ข่าวเชียงใหม่

สคร.1เชียงใหม่ฝากเผยแพร่ ทำไม? โรคความดันโลหิตสูง ถึงเป็น 1 ในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรทั่วโลกตายก่อนวัยอันสมควร

 

“ท่านทราบระดับความดันโลหิตของท่านหรือไม่?”

 

 

 

ทำไม? โรคความดันโลหิตสูง ถึงเป็น 1 ในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรทั่วโลกตายก่อนวัยอันสมควร

ปัจจุบันสังคมไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัล มีการพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น  ทำให้การดำเนินชีวิตของคนง่ายขึ้น แต่คุณจะรู้หรือไม่ว่าการดำเนินชีวิตที่สะดวกสบาย ทำให้มีผลต่อกระทบสุขภาพตามมาอย่างมากมาย เช่น การทำกิจกรรมทางกายน้อยลง เพราะพึ่งพาแต่เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ การบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียมหรือเกลือ และไขมันสูง ไม่ว่าจะเป็นอาหารปรุงสำเร็จรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารฟาสต์ฟู้ด เพราะสะดวกในการซื้อ เข้าถึงง่าย การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ ซึ่งนำมาสู่ภาระโรคที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง เป็น 1 ในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรทั่วโลกตายก่อนวัยอันควร และเป็นปัญหาที่กำลังมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งภาวะความดันโลหิตสูงจะไม่มีสัญญาณเตือนหรืออาการแสดงให้เห็น จึงมักจะถูกเรียกว่าเป็น “ฆาตกรเงียบ” (Silent killer) ผู้ป่วยจำนวนมากเป็นโรคนี้โดยที่ไม่รู้ตัวมาก่อนว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง หากไม่ได้รับการดูแลรักษาจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงของกล้ามเนื้อหัวใจตายเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นเป็นสี่เท่า

ทำไม? เราต้องทราบระดับความดันโลหิตของตัวเอง

การวัดระดับความดันโลหิต นั้นสามารถบ่งบอกได้ว่าร่างกายของเราอยู่ในสภาวะใด เป็นการตรวจวัดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นภาวะความดันโลหิตสูง หรือภาวะความดันโลหิตต่ำล้วนส่งผลอันตรายต่อร่างกายเราทั้งสิ้น

ภาวะความดันโลหิตต่ำ มักเกิดจากการที่ร่างกายเราอยู่ในสภาวะดื่มน้ำน้อย ร่างกายสูญเสียน้ำ หรือเสียเลือดมาก รวมถึงเป็นผลข้างเคียงจาก โรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งภาวะความดันโลหิตต่ำนี้มักจะเสี่ยงต่อการที่สมองขาดเลือด ทำให้เกิดอาการหมดสติ และชัดได้

ภาวะความดันโลหิตสูง เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าเป็นพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม การรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด หรือเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือด ไตวาย เป็นต้น สถิติทั่วโลกบ่งชี้ว่าในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง มีเพียงร้อยละ 50 ที่ทราบค่าระดับความดันโลหิตของตนเอง และมีประชากรเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีความตระหนักต่อโรคความดันโลหิตสูง

ดังนั้นเราจึงควรหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับตัวเลขความดันโลหิตของเรา เพื่อความปลอดภัยและป้องกันภาวะการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ค่าตัวบน เรียกว่า ความดันซิสโตลิค (systolic) หมายถึงความดันเมื่อหัวใจบีบตัว ค่าตัวล่าง เรียกว่า ความดันไดแอสโตลิค (diastolic) หมายถึงความดันเมื่อหัวใจคลายตัว ความดันโลหิตที่เหมาะสมในตัวผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 18 ปี คือ ตัวบนไม่เกิน 120 มิลลิเมตรปรอท ตัวล่างไม่เกิน 80 มิลลิเมตรปรอท เรียกสั้นๆ ว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท

  ค่าตัวบน (มิลลิเมตรปรอท) ค่าตัวล่าง (มิลลิเมตรปรอท)
ปกติ 120-129 80-84
กลุ่มเสี่ยง 130-139 85-89
ความดันโลหิตสูง 140 ขึ้นไป 90 ขึ้นไป

 

ทำอย่างไร? เราจะห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูง

  1. ลดอาหารเค็ม/มัน เพิ่มผักผลไม้ ด้วยวิถีกินแบบพอดี

กินพอ คือ กินอาหารครบทุกหมู่ ในปริมาณที่สมดุลกับการออกแรงของแต่ละคน

กินดี คือ กินอาหารที่หลากหลายชนิดไม่จำเจ รสชาติไม่จัด (หวานน้อย เค็มน้อย ไขมันต่ำ) เพิ่มการกินผัก ผลไม้สด รสหวานน้อย และถั่วจากธรรมชาติแทนขนมกรุบกรอบ ใส่ใจฉลากโภชนาการให้มากขึ้น โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเกลือ หรือโซเดียมที่ต่ำที่สุด

  1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง พอเพียง หลีกเลี่ยงสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ remote control , ลิฟต์ และหาเวลาออกกำลังกายอย่างน้อย วันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ กรณีที่ไม่สะดวกที่จะออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง สามารถแบ่งทำครั้งละ 15 นาที 2 ครั้งต่อวัน
  2. งดหรือลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเพศชายดื่มน้อยกว่า 2 แก้วมาตรฐานต่อวัน เพศหญิงดื่มน้อยกว่า 1 แก้วมาตรฐานต่อวัน และไม่ควรดื่มทุกวัน
  3. งดหรือลดการสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่
  4. จัดการกับความเครียด ทำอารมณ์ให้ผ่องใส เช่น ฟังเพลง ระบายความเครียดกับผู้ที่เราไว้วางใจได้โดยไม่หันเข้าหาอบายมุข หรือสิ่งที่เป็นผลเสียต่อร่างกาย
  5. ตรวจวัดระดับความดันโลหิตอย่างน้อยปีละครั้ง จัดการควบคุมน้ำหนัก รอบเอว ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยสม่ำเสมอ

 

 

ข้อมูลจาก : แผ่นพับ รู้จักโรคความดันโลหิตสูง สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค

และ ประเด็นสารรณรงค์วันความดันโลหิตสูงโลก ปี 2561