ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ลงพื้นที่อำเภอพร้าว ติดตามมาตรการป้องกันหมอกควันไฟป่า “โหล่งขอดโมเดล”


ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ลงพื้นที่อำเภอพร้าว ติดตามมาตรการป้องกันหมอกควันไฟป่า “โหล่งขอดโมเดล” และการดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ราษฎรในการขับเคลื่อนนโยบายของจังหวัดเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 เวลา 14.00 น. นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์ไฟป่าและการขับเคลื่อนงานด้านมาตรการป้องกันหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ “โหล่งขอดโมเดล” และการดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ บ้านหลวง ณ ศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้พบปะให้กำลังใจราษฎรในพื้นที่อีกด้วย

สำหรับ บ้านหลวง ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่มีทั้งทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนในบ้านหลวงจึงประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยทำการปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันฝรั่ง มะม่วง และลำไย นอกจากนี้ ยังเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ ไก่ หมู ปลา วัว และควาย ส่วนอาชีพรองลงมา คือ ค้าขาย และรับจ้าง ในรอบหนึ่งปีพื้นดินที่บ้านหลวงไม่ได้ว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรมเลย จนประชาชนในบ้านหลวงต่างเล่าขานกันว่า “แผ่นดินบ้านหลวงเป็นแผ่นดินร้องไห้” จากรากฐานการเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาหมู่บ้าน จึงส่งผลให้บ้านหลวงได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดโครงการ “หมู่บ้านตัวอย่างตามรอยเท้าพ่อ” ประเภทโครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ ประจำปีงบประมาณ 2558 รางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” ดีเด่นระดับจังหวัด นำไปสู่การเป็นหมู่บ้านต้นแบบในการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต โดยอาศัยหลักความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันในตัวเองที่ดี และใช้เงื่อนไขความรู้ และคุณธรรมในการดำเนินชีวิต จึงทำให้ประชาชนในบ้านหลวงสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
ด้านปัญหาหมอกควันไฟป่าของอำเภอพร้าว ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เกิดจุด hotspot ทั้งหมด 7 จุด ซึ่งลดลงจากปีที่แล้ว 11 จุด ทั้งนี้ได้มีโครงการ “โหล่งขอดโมเดล” เป็นตำบลนำร่องแห่งแรกของประเทศไทย ที่ไม่บุกรุกเขตป่ามีการกันเขตป่าป้องกันการบุกรุกป่าได้แบบยั่งยืน และมีการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนแบบบูรณาการ อุทยานแห่งชาติศรีลานนา อบต.โหล่งขอด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แม่บ้าน ผู้สูงอายุ และเยาวชน โดยให้วัดเป็นศูนย์รวม ก่อนนั้นพื้นที่โหล่งขอดเกิดปัญหาภัยแล้ง และเกิดอุทกภัย น้ำป่าไหลหลากท่วมบ้านเรือนประชาชนทุกปี รวมทั้งยังพบมีผู้บุกรุกทำลายป่า และมีผู้ค้ายาเสพติดด้วย แต่เมื่อดำเนินการตามโครงการโหล่งขอดโมเดล โดยมีปลูกป่า บวชป่า สร้างฝายชะลอน้ำ เก็บตะกอน สร้างความชุมชื่นให้ผืนป่า ตลอดจน การทำแนวกันไฟในฤดูแล้ง และยังสร้างศูนย์เรียนรู้ในวัด และช่วยปลูกจิตสำนึกให้คนในพื้นที่รักษาป่าไม้ โดยมีกติกาตำบลโหล่งขอดร่วมกัน มีบทลงโทษผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและบุกรุกป่า พร้อมกันนั้นได้กันแนวเขตป่าเพื่อได้ผืนป่าคืนให้กับรัฐเพื่อปลูกป่าถาวรต่อไป ถือว่าประสบความสำเร็จแห่งแรกของไทย
////////////////////////////////////
สุดาภรณ์ อินต๊ะธรรม / ส.ปชส.เชียงใหม่
15 มีนาคม 2561