Reporter&Thai Army

กองทัพภาคที่ 3 พูดคุยชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการก่อสร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภายในพื้นที่โบราณสถานพระราชวังจันทน์

กองทัพภาคที่ 3 พูดคุยชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการก่อสร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภายในพื้นที่โบราณสถานพระราชวังจันทน์

พลตรี สุภโชค ธวัชพีระชัย รองแม่ทัพภาคที่ 3 พร้อมด้วย นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ร่วมกัน ชี้แจงข้อเท็จจริงการก่อสร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ลานกาแฟ Coffee patio กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 3
ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันพฤหัสบดีที่
21 มิถุนายน 2561

การอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่พระราชวังจันทน์ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี
พ.ศ.2553 โดยมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือกันอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานพระราชวังจันทน์ และพื้นที่โดยรอบ โดยมีกรมศิลปากร มูลนิธิเย็นศิระเพราะ
พระบริบาล กองทัพภาคที่ 3 และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 มีจังหวัดพิษณุโลกโดยผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นพยานในการลงนาม

ทั้งนี้ บริษัท ปตท.
ได้สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 72 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาพื้นที่โบราณสถาน จำนวน 10 แผนงาน ปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการกำกับดูแลการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังจันทน์ และ
ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ ประกอบด้วย ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ผู้แทนกองทัพภาคที่ 3 / มูลนิธิเย็นศิระเพราะพระบริบาล กรมศิลปากร

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศิษย์เก่าโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อจัดทำแผนแม่บท
ในการพัฒนาพระราชวังจันทน์ ได้กำหนดแผนงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่โบราณสถานพระราชวังจันทน์ จำนวน 13 แผนงาน ดังนี้

1. การก่อสร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชวังจันทน์
2. การสร้างหอพระบริเวณสระสองห้อง
3. การปรับปรุงอาคารอนุรักษ์ 1
4. การปรับปรุงอาคารอนุรักษ์ 2
5. การสร้างลานจอดรถ
6. ประตูทางเข้า
7. การก่อสร้างป้ายทางเข้า
8. การสร้างเส้นทางจักรยาน
9. การปรับปรุงอาคารศูนย์ประวัติศาสตร์ฯ ภายนอกและการจัดแสดงนิทรรศการภายใน
10. ป้ายโบราณสถาน
11. การสร้างร้านจำหน่ายสินค้า
12. การสร้างห้องน้ำ
13. การปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยรอบบริเวณโบราณสถานพระราชวังจันทน์

สำหรับการสร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (หลังใหม่) เป็น 1 ใน 13 แผนงาน นั้น โดยมีแนวความคิดจะทำการก่อสร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
(หลังใหม่) ที่มีความสวยงาม มีสิ่งอำนวยความสะดวก ให้กับผู้ที่มาสักการะได้ ทุกเพศ
ทุกวัย รวมถึงผู้พิการ เนื่องจากศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (หลังเดิม ) มีพื้นที่สักการะน้อยคับแคบ คณะกรรมการได้มีการร่วมกันพิจารณาแบบ และมีการกำหนดแผนงาน ในการปรับภูมิทัศน์โดยรอบ ซึ่งในแผนงานนั้น ไม่มีการรื้อศาลสมเด็จ
พระนเรศวรมหาราช (หลังเดิม)

การปรับภูมิทัศน์ได้ออกแบบให้มีความสอดคล้องสวยงามระหว่างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (หลังเดิม) กับศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (หลังใหม่) ซึ่งอยู่ในแผนงานที่ 13

โดยการกำหนดแบบของศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (หลังใหม่) คณะกรรมการได้มีความคิดเห็นว่า ควรมีการสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก จึงได้ใช้โอกาสในการจัดกิจกรรมเปิดโครงการอนุรักษ์และ
พัฒนาพื้นที่โบราณสถานพระราชวังจันทน์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 จัดทำประชามติ
สรุปผลการสำรวจแบ่งตามกลุ่มอายุ ทุกกลุ่มเห็นด้วย ดังนี้

– อายุ 15 – 30 ปี : เห็นควรให้ดำเนินการสร้างและพัฒนาต่อไป เพื่อจะได้
เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ

– อายุ 31 – 50 ปี : เห็นควรให้ดำเนินการสร้างและพัฒนาต่อไป โดยขอ
ให้ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้ร่มรื่นมากขึ้น ขอให้มีลานจอดรถที่เพียงพอ มีแสงสว่างที่เพียงพอสำหรับการจัดกิจกรรมในเวลากลางคืน ซึ่งนอกจากจะทำให้มีความสะดวกมากขึ้นแล้วยังทำให้เกิดความสง่างามมากขึ้นด้วย

– อายุ 51 ปี ขึ้นไป : เห็นควรให้ดำเนินการสร้างและพัฒนาต่อไป โดยขอให้ปรับปรุงภูมิทัศน์ทั้งหมด เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางด้านประวัติศาสตร์ ขอให้ออกแบบอาคารแบบย้อนยุค และ เมื่อดำเนินการสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ขอให้มีผู้ที่รับผิดชอบสถานที่อย่างชัดเจน

จากนั้น คณะกรรมการอำนวยการกำกับดูแลการอนุรักษ์และพัฒนาพระราช
วังจันทน์ และศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ ได้มีหนังสือถึงกรมศิลปากร
เพื่อเข้าดำเนินการตามโครงการ 13 แผนงาน ซึ่งกรมศิลปากรมีหนังสือตอบกลับ
ให้ดำเนินการได้ โดยมีเงื่อนไขว่า หากคณะกรรมการมีความประสงค์จะก่อสร้างอาคารใหม่ อนุญาตให้ก่อสร้างได้โดยให้อยู่ในพื้นที่ขอบเขตลานที่มีอยู่เดิม และจัดส่งรูปแบบรายการให้กรมศิลปากรพิจารณาอนุญาตอีกครั้ง

คณะกรรมการอำนวยการกำกับดูแลการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังจันทน์ และศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ ได้เสนอแบบการก่อสร้างไปยังกรมศิลปากร และมีการปรับแก้รูปแบบมาโดยตลอด จนกระทั่งล่าสุด อธิบดีกรมศิลปากรได้มาตรวจ โดยขอแก้ไขปรับแบบโดยตัดปรางค์ออก และลดขนาดความยาวของตัวศาลลง เนื่องจากด้านซ้ายด้านขวา จะไปชนกับกำแพงแก้ว ซึ่งทุกครั้งที่มีการปรับแก้จะมีคณะกรรมการวิชาการเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถานของสำนักสถาปัตยกรรมกรมศิลปากร
เป็นผู้พิจารณาแบบ โดยล่าสุดแบบที่สร้างปัจจุบัน ได้รับการปรับแก้ และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการวิชาการเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถาน และได้รับอนุมัติแบบโดย นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560
ทางคณะกรรมการอำนวยการกำกับดูแลการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังจันทน์ และศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ ได้มีหนังสือขออนุญาตเข้าดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่โบราณสถานพระราชวังจันทน์ และกรมศิลปากรมีหนังสืออนุญาตให้เข้าดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่โบราณสถานพระราชวังจันทน์ได้

ปัจจุบันโครงสร้างหลักของศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในส่วนที่ กองทัพภาคที่ 3ดำเนินการจากงบบริจาค ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย สำหรับงานประดับตกแต่งศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยใช้งบประมาณตามแผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ โครงการพัฒนาศักยภาพท่องเที่ยวและบริการแบบบูรณาการ เป็นการดำเนินการของจังหวัดพิษณุโลก
โดยกรมศิลปากร (สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย)

สำหรับการดูแลมูลนิธิพระราชวังจันทน์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2558 เพื่อให้มีองค์กรจัดหาทุนทรัพย์สำหรับการกุศล รวมถึงสนับสนุนโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่โบราณสถานพระราชวังจันทน์
อันเป็นสาธารณประโยชน์ต่อส่วนรวม อีกทั้งพื้นที่พระราชวังจันทน์เป็นพื้นที่รับผิดชอบของกรมศิลปากรและอยู่ในเขตปกครองของจังหวัดพิษณุโลก มีการใช้งบประมาณของจังหวัดในการปรับปรุง และให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนชาวพิษณุโลก ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิพระราชวังจันทน์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อวันที่
24 เมษายน 2561 ได้มีมติ ให้จังหวัดพิษณุโลกเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ โดยมี
ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานกรรมการมูลนิธิ โดยตำแหน่ง