กลุ่มผู้ปลูกมันสำปะหลังดินภูเขาไฟจังหวัดศรีสะเกษ อบรมโครงการสร้างมาตรฐานอาหารปลอดภัย สู่ระบบ(GAP)


กลุ่มผู้ปลูกมันสำปะหลังดินภูเขาไฟจังหวัดศรีสะเกษ อบรมโครงการสร้างมาตรฐานอาหารปลอดภัย สู่ระบบ(GAP)
วันที่ 23 เมษายน 2561 ที่บริเวณลานเอนกประสงค์ บริษัทเอี่ยมศิริแป้งมันจำกัด ตำบลจานใหญ่ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ นายวิชิต ไตรสรณะกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดการอบรมเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง (GAP) เพื่อให้มันสำปะหลังมีคุณภาพตั้งแต่ปลูก จนสู่ผู้บริโภค และยังเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร โดยมีนายเกิ้ง ขุนติวงศ์ ประธานกลุ่มผู้ปลูกมันสำปะหลังดินภูเขาไฟจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวรายงาน มีนางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล รองประธานบริหารบริษัทเอี่ยมศิริแป้งมันจำกัด นางชุติอร ราษี ปลัดอำเภอกันทรลักษ์ ทั้งเกษตรกรชาวสวนมันสำปะหลัง พื้นที่อำเภอกันทรลักษ์ และอำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ รวมอบรม 650 คน


เนื่องด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรเกี่ยวกับการปฏิบัติของการเกษตรที่ดีสำหรับมันสำปะหลังตั้งแต่แปลงปลูกจนถึงแหล่งรับซื้อ เพื่อให้ได้มันสำปะหลังที่มีคุณภาพ ปลอดภัย โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของเกษตรกรด้วย เพื่อให้เกิดมาตรฐานดังกล่าว ทางกลุ่มผู้ปลูกมันสำปะหลังดินภูเขาไฟจังหวัดศรีสะเกษ จึงได้จัดการอบรมเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเพื่อเข้าสู่การปลูกมัน GAP ขึ้น ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ เป็นการร่วมมือกัน จากหน่วยงานรัฐ เช่น กลุ่มส่งเสรมการผลิตสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ เกษตรอำเภอกันทรลักษ์ เกษตรอำเภอเบญจลักษ์ จากผู้ประกอบการ บริษัทเอี่ยมศิริแป้งมันจำกัด ได้สนับสนุนงบประมาณ ตลอดทั้งวิทยากรจากศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นักวิชาการการเกษตร ทั้งเกษตรกรผู้ที่ปลูกมันสำปะหลังให้ความสนใจเป็นอย่างดี


นายวิชิต ไตรสรณะกุลนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวขอบคุณบริษัทเอี่ยมศิริแป้งมันจำกัด ที่ได้สนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆในการจัดการอบรมในครั้งนี้ ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจะได้มีสุขภาพอนามัยที่ดี ร่างกายแข็งแรงเพราะขั้นตอนการผลิตมีการใช้สารเคมีที่ถูกวิธีและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ทั้งผู้บริโภคเองก็จะได้รับสารอาหารที่สะอาดปลอดภัยต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน


ด้านนาย ตติยะ หวังศุภกิจโกศล กรรมการบริหาร บริษัทเอี่ยมศิริแป้งมันจำกัด กล่าวว่า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรที่นำมันสำปะหลังมาขายให้กับโรงงาน โดยโรงงานเองได้ทำโครงการอาการปลอดภัย (GAP) ก็เพื่อเพิ่มราคามันสำปะหลังให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และเราได้เล็งเห็นความปลอดภัยของตัวผลิตภัณฑ์อาหารของเรา ซึ่งเราต้องบริหารตั้งแต่ต้นน้ำ คือเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังว่าทำอย่างไรกับผลิตภัณฑ์ที่ปลูกจนมาถึงโรงงานแปรรูปและไปสู่ผู้บริโภค เพราะฉะนั้นตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเราก็สามารถรับประกันได้ว่าผลิตภัณฑ์ปลอดภัย จึงได้จัดอบรมเกษตรกร โครงการสร้างมาตรฐานอาหารปลอดภัย สู่ระบบ(GAP) ขึ้น /// ทีมข่าวรอบรั้วภูธร จ.ศรีสะเกษ/รายงาน