Reporter&Thai Army ข่าวเชียงใหม่

แม่ทัพน้อยที่ 3 เป็นประธานสรุปบทเรียน การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ปี 62 เพื่อปรับแผนการดำเนินงาน ในปี 63 ของศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ระดับภาคส่วนหน้า ณ ห้องประชุมทองจัตุ กองกำลังผาเมืองเชียงใหม่

แม่ทัพน้อยที่ 3 เป็นประธานสรุปบทเรียน การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ปี 62 เพื่อปรับแผนการดำเนินงาน ในปี 63 ของศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ระดับภาคส่วนหน้า ณ ห้องประชุมทองจัตุ กองกำลังผาเมืองเชียงใหม่

วันที่ 25 เม.ย.62 เวลา 09.00 น. พล.ท.สุภโชค ธวัชพีระชัย แม่ทัพน้อยที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควัน ระดับภาคส่วนหน้า เป็นประธานสรุปบทเรียนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ประจำปี 2562 โดยมี นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัด เชียงใหม่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการจาก 9 จังหวัดภาคเหนือ เข้าร่วมประชุม
พล.ท.สุภโชค ธวัชพีระชัย แม่ทัพน้อยที่ 3 กล่าวว่า จากสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบ แต่เนื่องจากในปีนี้สภาพภูมิอากาศแห้งแล้งมากประกอบกับการสะสมของเชื้อเพลิงมีจำนวนมาก จึงส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันปีนี้ เพิ่มมากขึ้น ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควัน ระดับภาคส่วนหน้า จึงจัดการประชุมสรุปบทเรียนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ประจำปี 2562 ขึ้น เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ในช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูฝนเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และนำข้อมูลที่ได้ในวันนี้ไปปรับใช้ในการจัดทำแผนรองรับในปีต่อไป
สำหรับในปี 2562 ห้วงตั้งแต่ 1 ม.ค. – 23 เม.ย. 62 พบจุดความร้อนสะสมจำนวน 8,551 จุดมากกว่า ปี 2561 จำนวน 4,240 จุด คิดเป็น 98.35 % โดยจังหวัดที่มี จุดความร้อนสูงสุดเรียงตามลำดับประกอบด้วย จ.แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, เชียงราย, น่าน, ลำปาง, ตาก พะเยา, แพร่และลำพูน

ทั้งนี้ที่ผ่านมาศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควัน ระดับภาค ส่วนหน้า ได้วางแผนอำนวยการควบคุมและกำกับดูแลการปฏิบัติของชุดรณรงค์ฯ โดยให้ประสานงานกับหน่วยราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างจิตสำนึก สร้างการรับรู้ทำความเข้าใจแก่ประชาชน เฝ้าระวัง แจ้งเตือนการเกิดไฟป่า ดำเนินการดับไฟป่า และลดปัญหาหมอกควัน โดยจัดชุดรณรงค์ฯ และกำลังจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อบูรณาการร่วมกับจังหวัด ฝ่ายปกครอง หน่วยงานป่าไม้ ตำรวจ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน จิตอาสา และประชาชน จำนวน 7,442 นาย รวมทั้งขอรับการสนับสนุนอากาศยานจากกองทัพบก และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติการทิ้งน้ำดับไฟในพื้นที่ป่าที่เป็นภูเขาสูงชัน และจัดตั้งห้องติดตามสถานการณ์ (War Room) เพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติงานและติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชม.
สำหรับการใช้อากาศยานในการสนับสนุนการดับไฟป่า กองทัพบกได้ให้การสนับสนุนอากาศยาน ฮ.แบบ ( MI-17 ) จำนวน 4 เครื่อง ปฏิบัติการทิ้งน้ำ จำนวน 217 เที่ยว ปริมาณน้ำ จำนวน 575,522 ลิตร อากาศยาน ฮ.ท.212 จาก กกล.ผาเมือง จำนวน 1 เครื่อง ปฏิบัติการทิ้งน้ำ จำนวน 36 เที่ยว ปริมาณน้ำ จำนวน 37,300 ลิตร และอากาศยาน ฮ.ท.72 จาก ศูนย์ปฏิบัติการบินกองทัพภาคที่ 3 จำนวน 1 เครื่อง สนับสนุน การบินสำรวจ และลาดตระเวนทางอากาศในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 30 เที่ยว
นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สนับสนุนอากาศยาน จำนวน 3 เครื่อง ปฏิบัติการทิ้งน้ำ จำนวน 533 เที่ยว ปริมาณน้ำ จำนวน 270,900 ลิตร ในส่วนของกองทัพอากาศ สนับสนุน อากาศยาน (บล. 2 ก/BT-67) ใช้ในการโปรยละอองน้ำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 51 เที่ยว ปริมาณน้ำ 168,000 ลิตร นอกจากนี้กองทัพบก สนับสนุนเครื่องเป่าลม จำนวน 30 เครื่อง ให้ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ทั้ง 9 จังหวัด
ในส่วนของมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ตามมาตรการประกาศห้ามเผาโดยเด็ดขาดในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ในห้วงตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ ถึง เมษายน มีผลการจับกุมผู้กระทำความผิดทางกฎหมาย รวมทั้งสิ้น 474 ราย ประกอบด้วยการกระทำผิด พ.ร.บ.สาธารณสุข จำนวน 81 ราย, พ.ร.บ.ป่าไม้ จำนวน 37 ราย และ พ.ร.บ.จราจร จำนวน 356 ราย ด้านการเกิดอุบัติเหตุของกำลังพลและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติจากการดับไฟ จำนวน 10 ราย โดยได้รับบาดเจ็บ จำนวน 8 ราย และเสียชีวิต จำนวน 2 ราย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานที่สำคัญ คือ การสะสมเชื้อเพลิงในแต่ละปีมีจำนวนมาก ทำให้เกิดความล่อแหลมในการลักลอบเผาป่าในสาเหตุต่างๆ และการจัดระเบียบในการควบคุมการเผา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มที่ไม่เกรงกลัวต่อมาตรการบังคับใช้กฎหมาย จึงมีการลักลอบเผาป่าอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญระบบ single Command ในบางพื้นที่ยังใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากผู้บริหารยังวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา และระบบการแก้ไขปัญหาไม่ชัดเจน ตลอดจนเทคนิคการสื่อสารในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ในบางพื้นที่ ยังไม่เข้าใจ และไม่ถึงประชาชน โดยเฉพาะหมู่บ้านในพื้นท่าสงวนกับป่าอนุรักษ์ ทั้งนี้ในการดำเนินการปีต่อไป Single Command ศูนย์ควบคุมไฟป่าและหมอกควัน ระดับอำเภอจะต้องจัดทำแผนควบคุมไฟป่าและหมอกควัน อย่างบูรณาการทุกภาคส่วน สร้างความเข้าใจ ซักซ้อม ทุกขั้นตอน อย่างเป็นระบบ และมีการจัดตั้ง War Room วางแผน อำนวยการ ควบคุม ประสานงาน ตลอดจนการจัดชุดปฏิบัติการบูรณาการระดับตำบล เพื่อสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจถึงระดับหมู่บ้านต่อไป.

ทรงวุฒิ ทับทอง