Reporter&Thai Army นิตยสารตำรวจ สถานีประชาชน

ผู้ว่าฯลงพื้นที่ทุ่งเสลี่ยมยุติความขัดแย้งการทำเหมืองหิน พร้อมส่งเสริมให้ตำบลกลางดงเป็นตำบลต้นแบบเกษตรอินทรีย์ของสุโขทัย

ผู้ว่าฯลงพื้นที่ทุ่งเสลี่ยมยุติความขัดแย้งการทำเหมืองหิน พร้อมส่งเสริมให้ตำบลกลางดงเป็นตำบลต้นแบบเกษตรอินทรีย์ของสุโขทัยหลังจากที่ชาวบ้านตำบลกลางดง อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย กว่า 100 คน ยื่นคัดค้านการทำเหมืองหินต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ที่ศาลากลางจังหวัดสุโขทัยเมื่อช่วงเช้าแล้ว จากนั้นเวลา 15.00 น. วันนี้ (28 ม.ค.62) นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยพร้อมด้วย พล.ต.ต.สุวิชาญ ญาณกิตติกุล ผบก.ภ.จว.สุโขทัย พ.อ. บุญประสิทธิ์ มีสอาด รอง ผอ.รมน.จังหวัดสุโขทัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านกว่า 300 คน ที่วัดบ้านใหม่ดอนสว่าง หมู่ 15 ตำบลกลางดง

โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ยืนยันว่าข้าราชการจะเป็นผู้รับใช้ประชาชน และต้องยืนอยู่ตามกรอบของกฎหมาย ซึ่งการขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองในพื้นที่นี้นั้น ถึงแม้จะเป็นเหมืองเก่า เคยได้รับอนุญาตและหมดสัมปทานไปนานแล้ว และปัจจุบันไม่เหมาะกับการทำสัมปทานอีกต่อไป ซึ่งบริษัทเอกชนหรือตัวแทนผู้ประกอบการเหมืองแร่ ได้เข้ามาดำเนินการยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่ในพื้นที่หมู่ที่ 15 ตำบลบ้านกลาง อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ซึ่งปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้ได้พลิกฟื้นกลายเป็นป่าเบญจพรรณ เป็นแหล่งที่มีน้ำซึมน้ำซับ เป็นแหล่งต้นน้ำของชาวบ้านในการใช้ทำนา ทำสวน มากกว่า 2,000 ไร่ ชาวบ้านทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง มีสัตว์ป่ากลับมาอาศัย และระบบนิเวศน์ได้คืนกลับมา ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีความประสงค์ที่จะให้มีการอนุญาตให้เอกชนรายใดเข้ามาดำเนินการทำเหมืองแร่ การแต่งแร่ และการประกอบโลหกรรม ในพื้นที่ เนื่องจากที่ผ่านมาเคยได้รับผลกระทบจากฝุ่น เศษหินที่ระเบิดกระจายเป็นวงกว้าง ถนนเสียหายจากการบรรทุก ที่สำคัญ ฝุ่นจะปกคลุมทั่วไปหมด ทำให้ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ ส่วนต้นไม้ไม่ผลิดอกออกผล จนไม่สามารถทำการเกษตรได้

พร้อมกันนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยได้กล่าวให้ข้อคิดกับชาวบ้านว่าจากนี้ควรสนใจในเรื่องปากท้อง และพร้อมมอบแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ วิถีไทย โดยให้ตำบลกลางดงเป็นตำบลต้นแบบเกษตรอินทรีย์ของสุโขทัย ซึ่งจะผลักดันผลผลิตออกสู่ตลาดทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ โดยได้วางโครงการร่วมกับโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดให้ใช้ผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากชาวบ้าน จัดสถานที่ขายในท้องถิ่น และจัดส่งซุปเปอร์มาร์เก็ตระดับประเทศ ซึ่งยังมีความต้องการอีกมาก นอกจากนั้นทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภคจะได้ผลของสุขภาพดีในที่สุด ทั้งนี้ชาวบ้านต้องอดทน และซื่อสัตย์ในอาชีพ และจะให้เกษตรจังหวัด จัดโครงการมาให้ความรู้อย่างใกล้ชิด เชื่อมั่นว่ารายได้ของ ชุมชนก็จะดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น การเป็นอยู่ก็ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งชาวบ้านที่มาพบปะพูดคุยต่างพอใจในการแก้ปัญหาครั้งนี้

วิชัย สิทธิพันธ์ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุโขทัย 055612286