2 กรกฎาคม 2568 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร กรรมการและรองเลขาธิการ พร้อมด้วย นายสุรพงศ์ เสรฐภักดี กรรมการและรองเหรัญญิก เป็นประธานมอบใบวุฒิบัตรให้แก่ทีมบรรเทาสาธารณภัย ที่สำเร็จการฝึกอบรมหลักสูตร “การค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (Urban Search And Rescue) หรือ “USAR” เป็นโครงการฝึกอบรมที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 เพื่อฝึกทักษะ เพิ่มพูนความรู้ความสามารถ และทบทวนการปฏิบัติภารกิจการค้นหาและกู้ภัยฯ ตามหลักมาตรฐานสากล พร้อมทบทวนข้อมูลและเรียนรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบโครงสร้างต่างๆ การพิจารณาสาเหตุรอยร้าว การตรวจสอบอาคารวิบัติ การเข้าแก้ไขเบื้องต้น ฯลฯ โดยแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติเรียนรู้วิธีลดการพังทลายของโครงสร้างอาคาร การกำหนดสัญลักษณ์การค้นหา ฯลฯ รวมถึงเรียนรู้เกี่ยวกับภารกิจของสุนัขกู้ภัย (K9) โดยมี นายเกริกเสกข์สัณห์ วาสะสิริ ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการพิเศษค้นหาและกู้ภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผศ.ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร พร้อมทีมผู้เชี่ยวชาญฯ ร่วมเป็นวิทยากรในการฝึกอบรม พร้อมด้วยนายอรัณย์ โตทวด ผู้จัดการใหญ่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นางสาวณัฐกานต์ ขำคม ผู้จัดการฝ่ายบุคคลและฝึกอบรม และนางสาวพิมพ์ณภัท สุนทรฐิติวงษ์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร ร่วมสังเกตการณ์ ณ ศูนย์ฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันฝ่ายพลเรือน จังหวัดชัยนาท
สำหรับการพัฒนาบุคลากรด้านบรรเทาสาธารณภัย มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพในระดับมาตรฐานสากล จึงได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ [MOU] ว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผนึกกำลังทั้งทางด้านวิชาการ และการปฏิบัติการ เพื่อการบูรณาการการจัดการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่และ/หรืออาสาสมัครมูลนิธิฯ และเตรียมความพร้อมรับมือสาธารณภัยให้สามารถบริหารจัดการและปฏิบัติตอบโต้เหตุฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมูลนิธิฯ ได้จัดทีมบรรเทาเข้าโครงการอบรมหลักสูตร “การค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (Urban Search And Rescue)” มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ในรุ่นแรกเมื่อปี พ.ศ. 2566 และได้นำองค์ความรู้ดังกล่าวช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิผล โดยเฉพาะเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568 ที่ผ่านมา
ตลอดระยะเวลากว่า 115 ปี ที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ขยายขอบข่ายโครงการต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา เท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาบุคลากรควบคู่กับพัฒนาโครงการ เพื่อเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ช่วยเหลือประชาชนครบวงจรในทุกๆ ด้าน ต่อไป ดังปณิธาน “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต”
