ข่าวยะลา ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเด่น

ศอ.บต.เดินหน้าเปิดปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านที่เห็นด้วยออกมาช่วยกันพรึ่บ เตรียมใบกระท่อม 120 วัน 

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้โต๊ะ (ศอ.บต.) เร่งขับเคลื่อนนโยบายของ พล.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในการแก้ไขปัญหาพืชกระท่อมและยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านวาระ “ปฏิบัติการกวาดล้างพืชกระท่อม 120 วัน” โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งในและนอกระบบราชการ เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของพืชกระท่อมอย่างยั่งยืน  โดยทางด้าน พ.ต.ท. วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. มอบหมายให้ นายธีรวิทย์ เธียรฆโรจน์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง ศอ.บต. ลงพื้นที่ ติดตามการดำเนินงาน ที่ บ้านรายอกายู หมู่ 6 ต.บุดี อ.เมืองยะลา พร้อมให้กำลังใจผู้นำท้องถิ่นและผู้นำศาสนาที่ร่วมรณรงค์ต่อต้านพืชกระท่อมและยาเสพติด

นายธีรวิทย์ ฯ ระบุว่า ปัจจุบันพืชกระท่อมและยาเสพติดเป็นภัยคุกคามสำคัญที่อาจเชื่อมโยงกับปัญหาความมั่นคง ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงดำเนินการครบวงจร ทั้งการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ การตรวจค้นและสแกนกลุ่มเสี่ยง ตลอดจนการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยเน้นย้ำว่า “ความยั่งยืนต้องมาจากความร่วมมือของประชาชน”

ขณะเดียวกัน ทางชุมชนได้ร่วมใจประกาศสงครามกับพืชกระท่อม หลายพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ตำบลบุดี ต.นาประดู่ อ.ปะนาเระ , ยะหริ่ง , รามัน และสะบ้าย้อย ได้ประกาศเจตนารมณ์ไม่ยอมรับพืชกระท่อม

ทั้งนี้ นายวันมูฮัมหมัดรูยานี ดาหามิ บาบอปอเนาะ สรีอาสานะ ต.บุดี เปิดเผยว่า ปอเนาะและชุมชนร่วมมือกันป้องกันยาเสพติดอย่างเข้มแข็ง ตามหลักศาสนาอิสลามที่ห้ามสิ่งเสพติดทุกชนิด(ฮะรอม) พร้อมชูสโลแกน “ชาวตำบลบุดีไม่ยอมรับการซื้อขายน้ำกระท่อม ใบกระท่อม และสิ่งเสพติดทุกชนิด”

ทางด้าน นายมะอารี มะโย๊ะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.บุดี กล่าวว่า ชาวบ้านรู้สึกขอบคุณนโยบายรัฐที่จริงจังกับปัญหายาเสพติด แต่ยังกังวลเรื่อง การเข้าถึงการบำบัด โดยเฉพาะครอบครัวยากจนที่ขาดเงินสนับสนุน บางรายถึงขั้นใช้วิธีคล้องโซ่ลูกไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เสพซ้ำ จึงขอให้รัฐจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือผู้ขาดแคลนด้วย

ขณะเดียวกัน นายธีรวิทย์ ฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า ศอ.บต. มุ่งมั่นว่า ภายในวันที่ 30 กันยายน ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดโครงการ 120 วัน จะสามารถขจัดร้านขายพืชกระท่อมตามถนนสายหลักได้ และหวังว่าครอบครัวในพื้นที่จะได้ลูกหลานที่ห่างไกลยาเสพติดกลับคืนมาอย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหายาเสพติดจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสังคมชายแดนใต้ที่เข้มแข็งและยั่งยืนตลอดไป

ตอริก สหสันติวรกุล รายงาน