ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเด่น ปทุมธานี

ม.ธรรมศาสตร์ ผนึกท้องถิ่น 39 แห่ง ปั้นโมเดลจัดบริการผู้สูงอายุในชุมชน ประกาศลุย 4 เรื่องสำคัญ สังคมสูงวัย

3 กรกฎาคม 2568 ที่ ห้องประชุมชั้น 3 ศูนย์สันทนาการและพื้นฟูผู้สูงอายุบึงยี่โถ จ.ปทุมธานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับเทศบาลเมืองบึงยี่โถ องค์การความร่วมมือ ระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และภาคีเครือข่ายภาควิชาการจากประเทศญี่ปุ่น จัดกิจกรรม TU Care & Ageing Society ธรรมศาสตร์ เพื่อนร่วมทางสังคมสูงวัย ครั้งที่ 2 ขึ้น

โดยมี รศ. ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยธรรรมศาสตร์ นายรังสรรค์ นันทกาวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ Mr. Yoshifumi Naito นายกเทศมนตรีเมืองยูกาวะระ ประเทศญี่ปุ่น Mr. Yosuke Kobayashi เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย และ Mr. Naomasa Fukuda ผู้แทน JICA ประเทศไทย เข้าร่วมงาน ซึ่งมีสาระสำคัญ คือการถ่ายทอดองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนผลการขับเคลื่อนงานตามโครงการการพัฒนาการจัดบริการสำหรับ ผู้สูงอายุในชุมชน ผ่านการสร้างเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในประเทศไทย (SMART AND STRONG PROJECT) ที่ธรรมศาสตร์ ได้ให้บริการวิชาการสนับสนุนการยกระดับการจัดบริการสุขภาพใน อปท. 39 แห่ง ทั่วประเทศ

โดย รศ. ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยธรรรมศาสตร์ เปิดเผยว่าปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทาย 2 ด้าน ได้แก่ 1. การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) อย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน2. กระแสการปฏิรูประบบบริการสุขภาพครั้ง ใหญ่ของประเทศไทย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ไปอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ อปท. ซึ่งทำให้ อปท. มีบทบาทสำคัญในฐานะ Change maker ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ผ่านการจัดบริการปฐมภูมิ และงานสร้างเสริมสุขภาพทั้งนี้ ในฐานะมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม ธรรมศาสตร์จึงได้ทำงานร่วมกับ 39 อปท. เพื่อดำเนินการสร้างคน สร้างทีมนักบริหารจัดการสังคมสูงวัยให้กับบุคลากร เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ของหน่วยงานท้องถิ่นทั้ง 39 อปท. ผ่านการอบรมและร่วมกันออกแบบนวัตกรรมการจัดบริการสุขภาพให้กับผู้สูงวัย โดยยึดหลักความต้องการของพื้นที่เป็นแกนกลางในการออกแบบ จนก่อให้เกิดเป็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม สามารถยกระดับการให้บริการสุขภาพแก่ผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาของการจัดงานในวันนี้ ที่ได้นำผลการดำเนินการดังกล่าวมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมทั้งวางแนวทางต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่ อปท. อื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป

ด้าน นายรังสรรค์ นันทกาวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ใจกล้า ปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุไม่ว่าจะอยู่อาศัยในบ้านคนเดียว หรือว่าอยู่กับครอบครัว รวมทั้งการป้องกันการพลัดตกหกล้ม การป้องกันโรคซึมเศร้า เป็นภาระกิจที่เราทำอยู่นอกจากการจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุในเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุ ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับเราโดยที่ให้ทางเราฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น และญี่ปุ่นส่งคนมาอยู่ประเทศไทย ก็มีการแลกเปลี่ยนกันตลอด เราต้องยอมรับว่าทางญี่ปุ่นเป็นอันดับ 1 ของเอเชียเพราะว่าเขาเป็นสังคมผู้สูงอายุมานานแล้ว อันเนี้ยมันก็กลายเป็นว่าเราก็ได้องค์ความรู้จากเขา และก่อนหน้านี้ที่เราเซ็น MOU ก็ได้เห็นได้ว่า มีทุกทั่วภูมิภาค มีทั้งภาคเหนือ มีลำพูน เชียงใหม่ มีภาคอีสาน มีขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ดภาคใต้ มียะลา ในภาคตะวันตกก็มี ทั้งหมดรวมแล้วประมาณ 39 แห่ง วันนี้ก็จะมานำเสนอผลงานที่ทำมาตลอด 3 ปี