10 กรกฎาคม .2568 ที่ สนามหน้า อบต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วย นายสุรพันธ์ เจริญทรัพย์ วัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ส่วนราชการ พี่น้องชาวชุมชนลาวเวียง ต.หาดสองแคว ทั้งเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ กว่า 500 คน ต่างพร้อมใจสวมใส่ชุดผ้าพื้นเมือง สีขาว จัดสำรับอาหารคาวหวาน ดอกไม้ธูปเทียน หิ้วตระกร้า จัดตั้งขบวนที่สวยงาม เดินจากด้านหน้า อบต.หาดสองแคว ไปยังวัดหาดสองแคว ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร โดยชาวบ้านในชุมชนลาวเวียงที่ร่วมในขบวนได้หาบตระกร้า อาหารคาวหวาน นำไปถวายแด่พระภิกษุและรับศิลรับพร เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ และถือเป็นประเพณีที่มีหนึ่งเดียวในประเทศไทย
ในช่วงเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา คือ “ประเพณีตักบาตรหาบจังหัน” โดยมีการเคาะกะลอปล่อยขบวนหาบจังหัน ประกอบด้วย จังหันดอกไม้ธูปเทียน และจังหันสำรับอาหารคาวหวานกว่า 200 หาบ เพื่อทำบุญตักบาตร ถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในวันพระใหญ่ ไปยังศาลาการเปรียญวัดพร้อมร่วมกันทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหาร ถวายเทียนจำนำพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน แก่พระภิกษุ เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ประจำปี 2568 เพื่อส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชน ได้น้อมระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ให้ได้เข้าวัดปฏิบัติธรรม บำเพ็ญจิตตภาวนา รักษาศีล ลด ละ เลิกอบายมุข สืบทอดพระพุทธศาสนา และมีส่วนร่วมทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกับครอบครัว ภายหลังจากมีการทำบุญถวายพระรับศิลรับพรจากพระภิกษุแล้ว ก็ได้มีการปักษ์ธงธรรมจักรความสูง 8 เมตร เพื่อแสดงเจตนจำนงค์ในการเป็นพุทธมามกะและเป็นสัญญาลักษ์ให้พุทธศาสนิกชนได้ทราบว่า ช่วงในช่วงนี้เป็นช่วงต้นเทศกาลเข้าพรรษา
นายสุรพันธ์ เจริญทรัพย์ กล่าวว่า ประเพณีตักบาตรหาบจังหัน หรือประเพณีการหาบสาแหรก เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ถือเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาวลาวเวียงหาดสองแคว ที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อและวันสำคัญทางพุทธศาสนา คำว่า “จังหัน” คือ ภัตตาหารที่จะถวายแด่พระสงฆ์ในยามเช้า ปกติทุกเช้าพระสงฆ์จะออกเดินบิณฑบาตไปตามหมู่บ้าน ขณะที่พระเริ่มเดินกลับวัด ชาวบ้านที่อยู่ท้ายบ้าน จะเคาะกะลอเป็นสัญญาณให้ทุกบ้านรู้ เพื่อจะได้ออกมายืนรอใส่บาตรเฉพาะข้าวสุก (ข้าวเจ้า) เท่านั้น ส่วนกับข้าว อาหารคาวหวาน จะใส่สำรับวางไว้บนแป้นไม้หน้าบ้านของตนเอง โดยจะมีนางหาบ นายหาบ เดินเก็บสำรับตามแป้นไม้ใส่สาแหรก แล้วหาบไปส่งที่วัด นำจัดถวายพระ แล้วนั่งรอจนพระฉันเสร็จ และให้ศีลให้พรแล้ว จากนั้นจะหาบสำรับอาหารไปวางคืนไว้ตามแป้นไม้หน้าบ้าน โดยไม่ผิดชามผิดบ้าน
ซึ่งในวันนี้เป็นอาสาฬหบูชา ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันจัดตั้งขบวนแห่นำอาหารไปถวายแด่พระภิกษุด้วยตนเอง เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีและสร้างความสามมัคคีของคนในชุมชน
“โดยการหาบจังหัน เป็นกุศโลบายที่เชื่อว่า ยิ่งหาบหนักยิ่งได้บุญมาก ปัจจุบันชาวชุมชนลาวเวียง ตำบลหาดสองแคว ยังมีการสืบทอดวิถีชีวิตอันงดงามและเป็นอัตลักษณ์หนึ่งเดียวในประเทศไทย ในช่วงวันพระใหญ่ เทศกาลอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา พร้อมใจนุ่งขาวร่วมประเพณีตักบาตรหาบจังหัน ตลอด 3 เดือน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา บำรุงพระพุทธศาสนา และยังจัดหาบจังหันจิ๋ว ให้เด็กๆ ได้ร่วมสืบสานเรียนรู้ พร้อมทั้งจัดเป็นกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวและพักในโฮมสเตย์ของชุมชน ส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเชิงวิถีพุทธ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนลาวเวียง ตำบลหาดสองแคว และยังมีการพัฒนาต่อยอดประเพณีหาบจังหัน โดยนำไปจัดทำเป็นของที่ระลึก ได้แก่ สาแหรกจิ๋ว และกระเป๋าผ้าด้นมือลวดลายหาบจังหัน ก่อเกิดเป็นรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในระหว่างการประกอบพิธีทำบุญภายในศาลาการเปรียญ ได้มีสายมูบางกลุ่ม ส่งตัวแทนมาจุดธูปขอโชคกับองค์ท้าวเวสสุวรรณองค์สีแดง ขนาดความสูง 3 เมตร รวมฐาน ซึ่งเลขเสี่ยงโชคที่ได้คือเลข 930 ก็ได้ถ่ายรูปนำไปแจกจ่ายส่งต่อให้เพื่อนในกลุ่มที่มาทำบุญด้วยกันเพื่อนำไปเสี่ยงโชคในงวดที่จะมาถึง โดยชาวบ้านเล่าว่า เคยมีคนในหมู่บ้านมาขอเรื่องโชคลาภและก็มีการถูกรางวัลกัน วันนี้เป็นวันพระใหญ่จึงอยากจะขอโชคกับองค์ท้าวเวสสุวรรณได้นำไปเสี่ยงโชคบ้าง
นาคา คะเลิศรัมย์ รายงาน