ข่าวรัฐสภา

กมธ.การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา ลงพื้นที่นนทบุรี ดูภาพรวมการพัฒนาจังหวัด การบริหารงานงบประมาณ

กมธ.การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา ลงพื้นที่นนทบุรี ดูภาพรวมการพัฒนาจังหวัด การบริหารงานงบประมาณ และความร่วมมือของ อปท. กับภาคส่วนต่าง ๆ ในการจัดทำบริการสาธารณะ พร้อมติดตามการรับถ่ายโอน รพ.สต. ของ อบจ.

วันที่ 27 ตุลาคม 2566 เวลา 09.00 นาฬิกา คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา นำโดย พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วย นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง เดินทางลงพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ชั้น 2 โดยมี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี พันตำรวจเอก ธงชัย เย็นประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี คณะผู้บริหาร และผู้แทนส่วนราชการของจังหวัดนนทบุรี ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งบรรยายสรุปในประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีได้มีแนวทางการปฏิบัติราชการของจังหวัดนนทบุรี “นนทบุรี 6 ดี สู่เมืองน่าอยู่ (Livable City)” ประกอบด้วย
1) เศรษฐกิจดี
2) สะดวกดี
3) สะอาดดี
4) ปลอดภัยดี
5) สิ่งแวดล้อมดี
6) คุณภาพชีวิตดี
โดยมีการร่วมพัฒนาภายใต้ 3 ร่วม คือ ร่วมแก้ไขปัญหา ร่วมสร้าง และร่วมพัฒนา ให้อยู่ภายใต้ 3 เงื่อนไข คือ ถูกต้อง เป็นธรรม และยึดประโยชน์ส่วนรวม

ทั้งนี้ จังหวัดนนทบุรี มีเป้าหมายในการพัฒนาให้เป็นเมืองหลักที่รองรับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ในระยะ 20 ปี แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ในปี พ.ศ. 2566 – พ.ศ. 2570 การพัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่ (Livable City)
ระยะที่ 2 ในปี พ.ศ. 2571 – พ.ศ. 2575 การพัฒนาเมืองศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ที่มีการเติบโตสูง (High Growth of Logistics City Hub)
ระยะที่ 3 ในปี พ.ศ. 2576 – พ.ศ. 2580 การพัฒนาเมืองที่เติบโตด้วยเศรษฐกิจมูลค่าสูง (City of High Value Economy Growth)
ระยะที่ 4 ในปี พ.ศ. 2581 – พ.ศ. 2585 การพัฒนาให้เป็นเมืองหลักที่รองรับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน (Principal Main City for Sustainable Growth) ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีมาตรฐานที่สูง
2. องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมือง โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาคน พัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมเป็นอันดับแรก ควบคู่กับการสร้างสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ โดยได้มีนโยบายการบริหารงานแบ่งเป็น 8 ด้าน ประกอบด้วย
1) ด้านการศึกษา
2) ด้านเศรษฐกิจ
3) ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต
4) ด้านการบริหารและการเมือง
5) ด้านการกีฬา
6) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
7) ด้านการส่งเสริมเกษตร
8) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
3. การบริหารงบประมาณ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตั้งเป็นรายจ่ายไว้ จำนวนทั้งสิ้น 2,470 ล้านบาท งบประมาณรายจ่ายจะมุ่งเน้นไปในแผนงานการศึกษา จำนวนร้อยละ 60.24 โดยมีโครงการก่อสร้างโรงเรียนนานาชาตินนทบุรีวิทยาลัย (ELITE School) ระดับชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 1 ถึง 6 โดยจะเปิดโอกาสให้นักเรียนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ที่มีฐานะยากจนได้เรียนฟรีจนจบการศึกษา ขณะนี้อยู่ในระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง
4. ความร่วมมือขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดทำบริการสาธารณะ ดังนี้
1) องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบริหารจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน การกำจัดมูลฝอยรวม การจัดการมูลฝอยติดเชื้อ การจัดการน้ำเสีย ของจังหวัดนนทบุรี โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี เป็นหน่วยงานหลักในการทำหน้าที่รวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชน การรวบรวมมูลฝอยและนำส่งศูนย์กำจัดมูลฝอย และการบำบัดน้ำเสีย ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
2) องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ได้ให้บริษัทเอกชนร่วมลงทุน จำนวน 3 โครงการ คือ โครงการที่ 1 ก่อสร้างและบริหารจัดการขยะโดยการนำขยะมูลฝอยเก่าจากหลุมฝังกลบเดิม มาใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้า โครงการที่ 2 ก่อสร้างและบริหารจัดการรวบรวมก๊าซมีเทนจากหลุมฝังกลบขยะมูลฝอยเดิม มาใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า และโครงการที่ 3 ก่อสร้างและบริหารจัดการระบบกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี พ.ศ. 2568

3) องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาและออกแบบระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำของจังหวัด
5. องค์การบริการส่วนจังหวัดนนทบุรี รับถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากกระทรวงสาธารณะสุข ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 18 แห่ง และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 11 แห่ง จากจำนวน 76 แห่ง ใน 6 อำเภอ โดยการดำเนินงานในระยะเปลี่ยนผ่านของการถ่ายโอน สอน. และ รพ.สต. พบปัญหาอุปสรรค ดังนี้
1) ด้านงบประมาณ
– ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ตามขนาด รพ.สต. ไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด
2) ด้านกฎหมาย
– ค่าตอบแทนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ และค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายสำหรับเจ้าหน้าที่ อัตราของกระทรวงมหาดไทยไม่เท่าเทียมกับของกระทรวงสาธารณสุข
3) ด้านบุคลากร
– กระบวนการถ่ายโอนบุคลากร ไม่เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น หนังสือสั่งการการรับโอนบุคลากรระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน เป็นต้น

ภายหลังการบรรยายสรุป พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการ ได้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อแนะนำ สรุปได้ดังนี้
1. การสร้างโอกาส ทางการศึกษาของเด็กและเยาวชน ผ่านทางกองทุนเพื่อความเสมอภาคเพื่อการศึกษา ซึ่งมีการมอบหมายให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ คัดเลือกเด็กและเยาวชนที่มีฐานะยากจนเข้าสู่ระบบการศึกษา
2. การส่งเสริมการศึกษา และการส่งเสริมการกีฬาจะเป็นการสร้างคนสร้างชาติ รวมถึงการจัดกิจกรรมลูกเสือจะเป็นการสร้างอุดมการณ์ร่วมกันเพื่อดำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์
3. รวมถึงจะต้องสร้างคนให้มีวินัยและมีคุณธรรมควบคู่กันไปด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการจะนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้ประกอบพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน