ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวศรีสะเกษ ข่าวเด่น

ศรีสะเกษขับเคลื่อนโครงการอวดเมือง อวดจังหวัด ผ่านงานเทศกาล เพิ่มขีดความสามารถสู่เวทีโลก

3 กรกฎาคม 2568 ที่ ห้องประชุมสระกำแพงใหญ่ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผวจ.ศรีสะเกษ เป็นประธานขับเคลื่อนโครงการอวดเมือง อวดจังหวัด ผ่านงานเทศกาล 2568 ตามโครงการเพิ่มขีดความสามารถผู้จัดเทศกาลไทย ผู้สร้างสรรค์เทศกาลไทยสู่เวทีนานาชาติ ปี 2568 โดยมี นายธาตรี สิริรุ่งวณิช รอง ผวจ.ศรีสะเกษ นายพนัส จันทร์คำ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ นายประหยัด ถิลา วัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ นำหัวหน้าส่วนราชการ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกิจกรรม ในโอกาสนี้ ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ ได้มอบหมายให้ นายพิสิษฐ์ สิริวิริยะธนา กรรมการสมาคมฯ และผู้สื่อข่าว นสพ.เดลินิวส์/อัมรินทร์ TV /TV ช่อง8 และ Workpoint เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย


นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษ ได้เสนองานเทศกาล “Sound Of Sisaket” เข้าร่วมโครงการ “เพิ่มขีดความสามารถผู้จัดเทศกาลไทย ผู้สร้างสรรค์เทศกาลไทยสู่เวทีนานาชาติ” ประจำปิ 2568 ของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับงานเทศกาลประจำจังหวัดสู่ความเป็น “เทศกาลของเมือง” (Chy Expo) เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยพัฒนาสู่ความเป็นประเทศแห่งเทศกาล (Thailand as a Festival County) เพื่อชูอัตลักษณ์เมืองและเศรษฐกิจท้องถิ่น ให้มีความโดดเด่นของเทศกาลทางวัฒนธรรมและกิจกรรมด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผลักดันให้เป็นเมืองน่าอยู่ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีภารกิจเกี่ยวกับการจัดงานเทศกาล และผู้จัดงานเทศกาลไทย ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้แก่ผู้ประกอบการและชุมชนได้อย่างยั่งยืน

และจังหวัดศรีสะเกษ ได้ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบ 12 จังหวัดสุดท้าย เพื่อเข้าร่วม “อวดเมือง Dream Pavilion” ในงาน THACCA SPLASH 2025 ในวันที่ 8-11 ก.ค.2568 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯมหานคร ในรอบคัดเลือกเพื่อชิงชนะเลิศ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาอัตลักษณ์ จุดเด่น และคุณค่าของเมือง โดยใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ข้อมูลทางสังคมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นฐานในการวิเคราะห์ ให้สามารถถ่ายทอดเป็นแบรนด์เมืองที่มีความชัดเจนและแตกต่าง โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับการรับรู้ของเมืองในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อสร้างกลไกความร่วมมือจากภาคีในระดับพื้นที่ และระดับนโยบายในการออกแบบกลยุทธ์การสร้างแบรนด์เมืองให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาเชิงพื้นที่และเศรษฐกิจสร้างสรรรค์อย่างยังยืน และเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและความพร้อมของเมืองไทยสู่เวทีโลก โดยใช้การสร้างแบรนด์เมืองเป็นเครื่องมือในการสร้างภาพลักษณ์ สร้างการจดจำ และส่งเสริมการยอมรับในระดับสากล ต่อไป.

บุญทัน ธุศรีวรรณ  รายงาน