คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดตัวศิลปะการแสดงชุด “ยอยกตะวัน” ในฐานะ “เครื่องมือเชิงวัฒนธรรม” ชูการท่องเที่ยวชุมชนบึงขุนทะเล ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี หนึ่งในผลผลิตจาก “โครงการห้องเรียนวิศวกรสังคม ระยะที่ 2 ประจำปี 2568” ที่ได้รับความร่วมมือจากเทศบาลตำบลขุนทะเล โรงเรียนในท้องถิ่น ผู้นำและชาวบ้านชุมชนบึงขุนทะเลทุกภาคส่วน ถอดบทเรียนวิถีชีวิตชาวชุมชนบึงขุนทะเล ด้วยเครื่องมือวิศวกรสังคม “นาฬิกาชีวิต” ศึกษาอดีต-ปัจจุบันของชุมชนผ่าน “Timeline พัฒนาการ” สร้างท่ารำและเนื้อหาการแสดงที่สะท้อนวิถีชีวิตการยกยอหวังยกระดับและได้รับการสืบถอดวิถีชุมชนให้แพร่หลายยิ่งขึ้น
อาจารย์ธัญญ์ฐิตา อัครภิรมย์ชัย อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรส. ผู้รับผิดชอบโครงการฯ เปิดเผยว่า ศิลปะการแสดงชุด “ยอยกตะวัน” หวังให้ชาวชุมชนบึงขุนทะเลได้ตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญของความสวยงามวิถีแห่งชุมชนริมน้ำที่สืบทอดต่อกันมา ดึงจุดเด่นสร้างอัตลักษณ์ให้ชุมชน ผ่านผลงานทางศิลปกรรม ด้านศิลปะการแสดง ซึ่งเป็นสื่อที่เผยแพร่ได้ง่าย เข้าใจง่าย สู่การยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนบึงขุนทะเลให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ประจำตำบลขุนทะเล และหรือประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีในลำดับต่อไป
อาจารย์ธัญญ์ฐิตา เปิดเผยต่อไปว่า การศึกษาวิถีวัฒนธรรมชุมชนบึงขุนทะเลเพื่อให้ได้มาซึ่งศิลปะการแสดงชุด “ยอยกตะวัน” ต้องใช้กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม บูรณาการศาสตร์ด้านศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เข้ากับเครื่องมือวิศวกรสังคม 4 ชนิดหลัก ได้แก่ “นาฬิกาชีวิต”, “ฟ้าประทาน”, “Timeline พัฒนาการ” และ “M.I.C Model” วิเคราะห์ชุมชนทั้งในมิติอดีต ปัจจุบัน และการวางแผนอนาคต โดยเน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอย่างแท้จริง ตั้งแต่การเก็บข้อมูลพื้นถิ่น วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน การออกแบบท่ารำ พร้อมอุปกรณ์ที่สื่อความหมายเชื่อมโยง ตลอดการแต่งกายที่บ่งบอกสัญลักษณ์ความเป็นบึงขุนทะเล ถึงการจัดเวทีแสดงสู่สาธารณะ รวมถึงการนำท่ารำไปประยุกต์เข้ากับแนวทางการออกกำลังกาย เสริมสร้างสมรรถนะทางด้านร่างกายแก่เยาวชนและผู้สูงอายุด้วย