11 พฤษภาคม 68 ตรงกันวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล ที่ วัดสระแก้ว ต.ในเมือง อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด พระครู ปริยวัฒนโชติ(สุภีร์ คำใจ) ดร. เจ้าอาวาสวัดสระแก้ว เจ้าคณะอำเภอเมืองร้อยเอ็ด นำพระลูกวัด พุทธศาสนิกชนวัดสระแก้ว ผู้มีจิตศรัทธา ทำบุญถวายภัตตาหารเช้า บังสุกุล และพิธีเวียนเทียน เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญของพระพุทธศาสนา เพื่อแผ่กุศลผลบุญแด่ญาติๆที่ล่วงลับ เจ้ากรรมนายเวร และความเป็นศิริมงคลแก่ตัวเอง ซี่งก่อนหน้าจะมีการแสดงพระธรรมเทศนาแก่ญาติโยมพุทธศาสนิกชนทุกวันพระ เพื่อกล่อมเกลาจิตใจพุทธศาสนิกชน มุ่งสร้างแต่คุณงามความดี รู้จักบาป บุญ คุณโทษ ทำบุญกุศล ให้ดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติสุข พระครูฯมีหน้าที่ดูแลสงเคราะห์พระภิกษุ สงเคราะห์ประชาชน
ซึ่งวันก่อนได้รวมใจกันก่อพระเจดีย์ทรายทำความดีรำลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วอธิฐานจิตสร้างแต่คุณงามความดีปฏิบัติตนเป็นพุทธมามกะสืบสานพระพุทธศาสนาสืบไป
ในประเทศไทยนั้น ประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายถือว่าเป็นประเพณีหนึ่งที่มีที่มาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยตรง โดยคนไทยผูกโยงประเพณีนี้เข้ากับคติความเชื่อเรื่องเวรกรรมในพระพุทธศาสนา มีการก่อพระเจดีย์ทรายถวายวัดเพื่อนำเศษดินทรายที่ติดเท้าออกจากวัดไปมาคืนวัดในรูปพระเจดีย์ทราย และเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นกุศลอานิสงส์ และนอกจากประเพณีเพื่อเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังเป็นกุศโลบายของคนในอดีตให้มีการรวมตัวของคนในชุมชนเพื่อร่วมกันจัดประเพณีรื่นเริงเป็นการสังสรรค์สร้างความสามัคคีของคนในชุมชนด้วย
พระครู ดร. ปริยวัฒนโชติ(สุภีร์ คำใจ) เจ้าอาวาสวัดสระแก้ว เจ้าคณะอำเภอเมืองร้อยเอ็ด กล่าวว่า.-วันนี้ความสำคัญทางศาสนาพุทธ คือวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพานเวียนมาบรรจบในวันและเดือนเดียวกัน คือ วันเพ็ญเดือนวิสาขะ ปีนี้ตรงกับวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ความหมายของ “วันวิสาขบูชา” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วิสาขบูชา ย่อมาจาก “วิสา – ขบุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ” ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน 7
เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง 3 คราว จึงถือว่าเป็นวันที่สำคัญของพระพุทธเจ้า หลักธรรมอันเกี่ยวเนื่องจากการประสูติ ตรัสรู้และเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือ ความกตัญญู อริยสัจ 4 และความไม่ประมาท
ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ (อริยสัจ 4) หรือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่ 1. ทุกข์ คือ ความลำบาก ความไม่สบายกายไม่สบายใจ 2. สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ 3. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ และ 4. มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์ ทั้ง 4 ข้อนี้ถือเป็นสัจธรรม เรียกว่า อริยสัจ เพราะเป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าทรงค้นพบ เป็นสัจธรรมชั้นสูง ประเสริฐกว่าสัจธรรมสามัญทั่วไป
พระครู ดร. ปริยวัฒนโชติ ย้ำว่า.-สิ่งที่อยากให้ พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ได้แก่ การทำบุญกุศลอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติตามศีลธรรมมิได้ขาด ปฏิบัติสมาธิตน และจะนำมาซึ่งก่อเกิดแห่งปัญญา ปัญญาจะช่วยให้หลุดพ้นจากปัญหาต่างๆที่เกิดจากการดำรงชีวิต สุดท้ายก็จะบังเกิดแต่ความปกติสุข พ้นจากความทุกข์ต่างๆได้
สมนึก บุญศรี รายงาน