พระครูอ๊อดนำทีม “นั่งหลังช้างยิงหนังสติ๊กปลูกป่า” ผสานพลังช้าง ฟื้นผืนป่าเชียงใหม่ พร้อมใช้มูลช้างทำปุ๋ยธรรมชาติรับฤดูฝน
วันที่ 18 พฤษภาคม 2568 พระครูอ๊อด วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยทีมควาญช้างตระกูลแสน และช้างพาหนะคู่ใจ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมฟื้นฟูผืนป่าอย่างสร้างสรรค์ ด้วยแนวคิด “นั่งหลังช้างยิงหนังสติ๊กปลูกป่า” โดยใช้เมล็ดพันธุ์ยางนาจากต้นแม่ยางนาอายุกว่า 200 ปี ภายในวัดเจดีย์หลวง เป็นกระสุนแห่งความหวัง ยิงเข้าสู่ผืนป่าธรรมชาติที่กำลังรอการฟื้นฟู
กิจกรรมดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นการปลูกป่าในรูปแบบสร้างสรรค์และเคารพต่อระบบนิเวศเท่านั้น แต่ยังใช้ “พลังช้าง” อย่างครบวงจร โดยเฉพาะ “มูลช้าง” ซึ่งกลายเป็นทรัพยากรสำคัญในกิจกรรมปลูกป่าในครั้งนี้ด้วย
พระครูอ๊อดได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “ช้างแต่ละเชือกกินอาหารวันละประมาณ 10% ของน้ำหนักตัว ส่งผลให้เกิดมูลช้างจำนวนมาก ซึ่งมีคุณสมบัติอุดมด้วยธาตุอาหารที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของพืช” ในกิจกรรมครั้งนี้ จึงมีการใช้มูลช้างจากคอกช้างของทีมควาญ นำมาโยนกระจายลงไปในพื้นที่ป่าร่วมกับเมล็ดพันธุ์ เพื่อเป็นปุ๋ยธรรมชาติรองรับการเติบโตของต้นไม้ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน
วิธีการนี้ไม่เพียงช่วยฟื้นฟูผืนป่าได้อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ แต่ยังถือเป็นการใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้ของการเลี้ยงช้างอย่างคุ้มค่า และยังสร้างจิตสำนึกเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์ป่า มนุษย์ และธรรมชาติอย่างลึกซึ้งอีกด้วย
“การโยนมูลช้างให้ป่าก็เหมือนการคืนของขวัญจากธรรมชาติกลับสู่ธรรมชาติ มันไม่ใช่แค่การปลูกต้นไม้ แต่คือการคืนชีวิตให้ป่า คืนอนาคตให้แผ่นดิน” พระครูอ๊อดกล่าวทิ้งท้าย
กิจกรรมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนและนักอนุรักษ์จำนวนมาก โดยวัดเจดีย์หลวงจะสานต่อกิจกรรมเชิงนิเวศเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งต่อป่าที่สมบูรณ์ให้กับคนรุ่นหลัง.