Reporter&Thai Army ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเชียงใหม่ ข่าวเด่น นิตยสารตำรวจ สถานีประชาชน

(มีคลิป) อบจ.เชียงใหม่ แถลงข่าวเปิดตัวโครงการขับเคลื่อนแหล่งมรดกวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่สู่ “มรดกโลก”

อบจ.เชียงใหม่ แถลงข่าวเปิดตัวโครงการขับเคลื่อนแหล่งมรดกวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่สู่ “มรดกโลก” และมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU 14 ฝ่าย

เมื่อวันที่ 21 พ.ค.68 ที่ห้องพลาย บอลรูม โรงแรมเชียงใหม่ แมริออท โฮเทล มีการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการขับเคลื่อนแหล่งมรดกวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่สู่มรดกโลกและมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU 14 ฝ่าย โดยทุกภาคส่วนในจังหวัดเชียงใหม่พร้อมร่วมมือร่วมใจร่วมสนับสนุนผลักดันการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเชียงใหม่สู่การเป็นมรดกโลก จากเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะเก่าแก่ร่วม 730 ปี มุ่งสู่การเป็นเมืองระดับโลกที่มีความพร้อมรองรับผู้มาเยือนจากทั่วโลก หนุนให้เกิดการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการอนุรักษ์ การบริหารจัดการโบราณสถานอันทรงคุณค่ามาแต่อดีต ยังคงอยู่คู่กับเมืองเชียงใหม่ในภายภาคหน้าต่อไป โดย 8 แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ที่จะนำเสนอสู่มรดกโลกประกอบด้วย วัดเชียงมั่น วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร วัดสวนดอกพระอารามหลวง วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร วัดเจ็ดยอดพระอารามหลวง รวมถึงแนวคูเมือง กำแพงเมือง แจ่ง ประตูเมือง เชียงใหม่

โดยในวันที่ 21 พฤษภาคม 2568 ณ ห้องพลาย บอลรูม โรงแรมเชียงใหม่ แมริออท โฮเทล ได้มีการจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการขับเคลื่อนแหล่งมรดกวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่สู่มรดกโลกและมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU 14 ฝ่ายว่าด้วยการบริหารจัดการอนุสรณ์สถานแหล่งต่างๆ และภูมิทัศน์ วัฒนธรรม ของเชียงใหม่นครหลวงของล้านนา ซึ่งมีพระเถระชั้นผู้ใหญ่ เจ้าอาวาสและผู้แทนเจ้าอาวาสจาก 7 วัดซึ่งอยู่ใน แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ที่จะนำเสนอสู่มรดกโลกได้เข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงฯ โดยมีสักขีพยานในพิธีจากหลายภาคส่วน ซึ่งการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU นี้เป็นหนึ่งในกระบวนการของการดำเนินงานการจัดทำเอกสารขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก (Nomination Dossier) ในขณะนี้ได้มีการเร่งดำเนินการจัดทำเอกสารขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก (Nomination Dossier) และจะจัดส่งเอกสารฯ ไปยังศูนย์มรดกโลก ภายในเดือนมกราคม 2569 เพื่อเข้ารอบโดยผ่านการตรวจร่างเอกสาร สู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกในปี 2570 ซึ่งหากได้ผ่านขั้นตอนพิจารณาจากคณะกรรมการมรดกโลกแล้ว จะส่งผลให้เมืองเชียงใหม่เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่เป็นแหล่งแรกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย

โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ได้รับมอบภารกิจจากทางจังหวัดเชียงใหม่ในการสนับสนุนกระบวนการจัดทำเอกสารนำเสนอฉบับสมบูรณ์ (Nomination Dossier) ซึ่งในปัจจุบันได้มีความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา ภาคประชาชน รวมถึงภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เพื่อร่วมผลักดันเมืองเชียงใหม่สู่มรดกโลก ยกระดับการเป็นเมืองที่มีการอนุรักษ์และการพัฒนาควบคู่กัน ดังเช่นเมืองที่ยังคงความเก่าแก่ ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานและยังคงความรุ่งเรืองในอีกหลายเมืองทั่วโลก

ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัดดำเนินการขับเคลื่อนนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเชียงใหม่เป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งทั้งประธานและรองประธานของคณะทำงานเร่งรัดฯ นี้ ได้สามารถขับเคลื่อนผลักดันทั้งอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพและอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทจนได้เป็นมรดกโลกในปี 2566 และ 2567 เป็นผลสำเร็จมาแล้ว ซึ่งในปัจจุบันคณะทำงานเร่งรัดฯอยู่ในกระบวนการเตรียมจัดทำเอกสารนำเสนอฉบับสมบูรณ์ (Nomination Dossier) ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยดำเนินการจัดทำเอกสารฉบับสมบูรณ์เอกสารฉบับสมบูรณ์เพื่อนำเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก (World Heritage Nomination) ในฉบับภาษาไทย และการแปลเป็น ฉบับภาษาอังกฤษให้เสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2568 นี้ โดยจะมีการจัดส่ง (ร่าง) เอกสารฉบับสมบูรณ์ อนุสรณ์สถานแหล่งต่าง ๆ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงล้านนา (Draft Nomination Dossier) ให้แก่ศูนย์มรดกโลกเพื่อตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของเอกสาร เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรมในช่วงเดือนกันยายน 2568 นี้ โดยการจัดทำเอกสารนำเสนอฉบับสมบูรณ์ (Nomination Dossier) นั้น ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่งในการดำเนินการจัดทำเอกสารฯ และคาดว่าจะมีการร่วมสนับสนุนจากหน่วยงาน ภาคส่วนต่างๆ รวมถึงภาคประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสร่วมสนับสนุนเพื่อผลักดันให้กระบวนการจัดทำจัดทำเอกสารนำเสนอฉบับสมบูรณ์ ได้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2568 นี้

โดยการจัดงานการจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการขับเคลื่อนแหล่งมรดกวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่สู่มรดกโลกและมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU 14 ฝ่ายในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนห้องจัดงานจากบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จํากัด (มหาชน) หรือ AWC และ โรงแรมเชียงใหม่ แมริออท โฮเทล ในเครือ AWC โดยได้มีการนำเสนอบนระบบอิมเมอร์ซีฟ ณ ห้อง “Plaii Ballroom” ซึ่งเป็นห้องบอลรูมระบบอิมเมอร์ซีฟแห่งแรกของโลก อยู่ภายในโรงแรมเชียงใหม่ แมริออท โฮเทล ที่ติดตั้ง จอ LED จากพื้นถึงเพดานครอบคลุมผนังทั้ง 4 ด้าน แบบ 360 รองรับการจัดงานแบบ Innovative โดยจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเชียงใหม่สู่จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยั่งยืนเชิงสร้างสรรค์และการอนุรักษ์ระดับโลก เป็นการยกระดับศักยภาพกลุ่มนักเดินทาง Innovative & Leisure MICE ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน พร้อมรองรับการจัดกิจกรรมระดับโลก

ทั้งนี้ประโยชน์ที่เมืองเชียงใหม่จะได้รับ เมื่อเป็นมรดกโลกได้แก่ ด้านการปกป้อง คุ้มครอง การได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในกรณีเกิดภัยพิบัติ อุทกภัย แผ่นดินไหว จะได้รับการช่วยเหลือทั้งงบประมาณ ผู้เชี่ยวชาญ องค์ความรู้การบูรณะหรือปกป้องโบราณสถาน โดยหน่วยงาน องค์กร จากทั้งในและนอกประเทศ

“โอกาสที่เมืองเชียงใหม่จะได้รับการสนับสนุนด้านการอนุรักษ์ ปกป้อง คุ้มครอง การบริการจัดการ ฟื้นฟูและดูแลรักษาโบราณสถานและพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์”

ด้านเศรษฐกิจและท่องเที่ยว เป็นปัจจัยสำคัญต่อภาคท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดโดยรอบ ด้วยจะสร้างแรงดึงดูดและความสนใจของผู้มาเยือนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้มากยิ่งขึ้น ก่อเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพสร้างโอกาสและรายได้แก่ชุมชนและภาคส่วนต่างๆ ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และโดยรอบ

ส่งผลดีต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นการสร้างแรงกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับจังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทยในภาพรวมให้ดียิ่งขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ด้านการพัฒนา ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมมีแผนงานอย่างเป็นระบบทางด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งภายในแหล่งมรดกวัฒนธรรมรวมถึงโบราณสถานสำคัญต่อเนื่องโดยรอบเพื่อการบริหารจัดการร่วมกับชุมชน ภาคประชาสังคมในพื้นที่ สำหรับการรองรับผู้มาเยือน ให้ความสำคัญกับความปลอดภัย จุดอำนวยความสะดวก จุดจอดรถ จุดขึ้น-ลง รถบริการสาธารณะ ทางเดินเท้า ฯลฯ

เกิดการยกระดับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการขนส่งสาธารณะภายในพื้นที่รวมถึงด้านคมนาคมเป็นศูนย์กลาง บริการต่อเนื่องในภาคท่องเที่ยวทั้งระบบ สร้างงานเพิ่มรายได้ให้กับคนในท้องที่

ด้านความร่วมมือ ชุมชน ภาคประชาสังคม การอนุรักษ์ ก่อเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมมือระหว่างกันในการที่จะร่วมกัน อนุรักษ์และพัฒนา สนับสนุน ส่งเสริม การปกป้องคุ้มครอง การดูแลรักษา และร่วมกันบริหารจัดการพื้นที่ภายในแหล่งมรดก โดย ภาครัฐ วัด ชุมชน องค์กรปกครองในท้องถิ่น

มีการพัฒนาในชุมชนอย่างเป็นระบบโดยการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม สร้างโอกาสการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและอนุรักษ์เมือง สู่กระบวนการด้านการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมของแหล่งมรดกวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่แหล่งอื่นๆโดยรอบอย่างยั่งยืน

เพื่อส่งต่อกระบวนการดังกล่าวให้กับคนรุ่นต่อๆ ไปให้มีความเข้าใจมี จิตสำนึกแห่งการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนที่เป็นระบบและเป็นรูปธรรม.