ข่าว ร้อยเอ็ด ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเด่น

ผู้ว่าฯร้อยเอ็ด ลงพื้นที่อำเภอเสลภูมิ ตรวจจุดคอสะพานขาด เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน

21 กรกฎาคม 2568 นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ลงพื้นที่ติดตามเหตุถนนคอสะพานขาด เนื่องจากกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกัดเซาะบริเวณคอสะพานจนทำให้หาย เกิดการทรุดตัวและขาดออกจากกัน โดยมีนายธรณิศ เทพแพงตา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้นำท้องที่/ท่องถิ่น ร่วมลงพื้นที่เพื่อสำรวจความเสียหาย ที่ บ้านนาทม ตำบลภูเงิน อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2568 เกิดเหตุถนนคอสะพาน เส้นทางระหว่างบ้านนาทม ตำบลภูเงิน และบ้านโนนสวรรค์ ตำบลบึงเกลือ อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เกิดการทรุดตัวและขาดออกจากกันได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุอุทกภัย โดยกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกรากได้กัดเซาะบริเวณคอสะพานจนทำให้ถนนเกิดการทรุดตัวและพังถล่มลงมาในที่สุด ส่งผลให้เส้นทางการสัญจรของประชาชนระหว่างสองตำบลถูกตัดขาด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางช่วยเหลือเฉพาะหน้าโดยเร็วที่สุด

โดย นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า จากการประเมินร่วมกับท่านผู้อำนวยการชลประทานจังหวัด ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านนายกฯ ในพื้นที่ พบว่าสถานการณ์น้ำที่ล้นตลิ่งในขณะนี้คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ไม่มีปัญหารุนแรงเกิดขึ้นเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังมีความกังวลเล็กน้อยคือเรื่อง “น้ำค้างทุ่ง” ซึ่งเป็นน้ำที่ค้างอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเดิม ซึ่งจำเป็นต้องมีการพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ว่า น้ำลักษณะนี้ในอดีตมีระยะเวลาค้างนานหรือไม่ และมีผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชนหรือไม่ หากพบว่ามีผลกระทบในระยะยาว เราจำเป็นต้องดำเนินการสูบน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วกว่าปกติ

ในส่วนของสะพานที่ขาด บริเวณที่สะพานขาดมีความยาวประมาณ 30 เมตร จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าสาเหตุหลักน่าจะมาจากข้อจำกัดทางวิศวกรรม กล่าวคือ หากปริมาณน้ำในพื้นที่มีสูงในทุกปี แต่สะพานที่ก่อสร้างมีความยาวหรือช่องเปิดที่ไม่เพียงพอ ก็อาจไม่สอดคล้องกับหลักการออกแบบด้านวิศวกรรม จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาออกแบบช่องเปิดน้ำใหม่ ซึ่งอาจไม่ใช่รูปแบบสะพานแบบเดิม แต่อาจใช้เป็นแบบบล็อกคอนเวิร์ส (Converse block) หรือท่อระบายน้ำขนาดใหญ่แทน โดยจะให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ออกแบบ จากข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม พบว่าพื้นที่ที่น้ำล้นเข้าท่วมนั้น ในปัจจุบันที่เป็นฤดูฝนไม่ได้ใช้ประโยชน์ และไม่มีที่อยู่อาศัยช ชาวบ้านจึงไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างไรก็ตาม เราจะต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้า เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถทำการเพาะปลูกนาปรังได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ทางจังหวัดได้ประสานงานกับศูนย์ ก.พ. เขต 6 ขอนแก่น และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินการในลำดับถัดไป

สมนึก บุญศรี  รายงาน