ช่วงเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้ยุงลายแพร่เชื้อโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น สคร.9 นครราชสีมา เตือนประชาชนป้องกันตนเองอย่าให้ถูกยุงกัด โดยทายากันยุงเพื่อป้องกัน และขอให้ชุมชนร่วมมือกันสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้าน ให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก เก็บขยะ ภายในและรอบๆ บริเวณบ้านไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เก็บน้ำ เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ จะป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ 3 โรคคือโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา พร้อมย้ำเตือน หากป่วยเป็นไข้เลือดออก ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง และรีบไปพบแพทย์
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงอาการของโรคไข้เลือดออกว่า เกิดจากยุงลายเป็นพาหะนำโรค ทำให้ผู้ป่วยมีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 39-40 องศาเซลเซียสประมาณ 2-7 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา นอกจากนี้ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร ส่วนใหญ่ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ต่อมาไข้จะลดลง ในระยะนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตสุขภาพที่ 9 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม –10 พฤษภาคม 2568 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 495 ราย มีผู้เสียชีวิตเพียง 1 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วยสะสม 166 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย อัตราป่วย 10.63 ต่อประชากรแสนคน 2) จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยสะสม 184 ราย อัตราป่วย 7.16 ต่อประชากรแสนคน 3) จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วยสะสม 105 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต อัตราป่วย 7.74 ต่อประชากรแสนคน 4) จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วยสะสม 40 ราย อัตราป่วย 3.74 ต่อประชากรแสนคน กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ 10-14 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี และ 0-4 ปี
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนป้องกันตนเองอย่าให้ถูกยุงกัด โดยทายากันยุง ช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายให้ครอบคลุมในพื้นที่ 7ร. ได้แก่ 1.โรงเรือน (บ้าน/อาคาร) 2.โรงเรียน/สถานศึกษา 3.โรงพยาบาล 4.โรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์) 5.โรงแรม/รีสอร์ท 6.โรงงาน และ 7.ส่วนราชการ/องค์กรเอกชน และป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยทายากันยุง สวมเสื้อผ้ามิดชิด นอนในมุ้ง หรือติดมุ้งลวดในบ้าน และหลีกเลี่ยงสถานที่มียุงชุกชุม หากมีอาการสงสัยโรคไข้เลือดออก เช่น มีไข้สูงเกิน 39-40 องศาเซลเซียสประมาณ 2-7 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีผื่นหรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว แขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ยาลดไข้ที่ปลอดภัยคือยาพาราเซตามอล ตามขนาดยาที่กำหนด ควรหลีกเลี่ยงยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งอาจมีผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร และยากต่อการรักษา หากรับประทานยาลดไข้หรือเช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลด ภายใน 1-2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
กันตินันท์ เรืองประโคน รายงาน