งานแถลงข่าวการจัดงาน “กาแฟพ่อหลวงสู่ความยั่งยืน Royal Coffee BCG to SDGs”
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2568) เวลา 16.00 น ณ ห้องเรือนกระจก ภายในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ มูลนิธิโครงการหลวง ได้จัดแถลงข่าวการจัดงาน “กาแฟพ่อหลวงสู่ความยั่งยืน BCG to SDGs” โดยมี พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการ และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวงในฐานะ ประธานกรรมการอำนวยการจัดงานฯ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเสด็จฯ พระราชบิดาไปในพื้นที่ทุรกันดาร ตั้งแต่ปี 2513 ทำให้ทรงทราบปัญหา และวิธีการดำเนินงานของโครงการหลวง ตามแนวทางพระราชทานของพระบิดามาโดยตลอด เมื่อทรงดำรงตำแหน่งองค์นายกกิตติมศักดิ์ จึงทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด งานโครงการหลวงให้เกิดประโยชนกับปวงประชาอย่างยั่งยืน ครั้งเมื่อโดยเสด็จฯ พระราชบิดาไปทอดพระเนตรต้นกาแฟอะราบิกา ของเกษตรกรชาวเขาที่บ้านหนองหล่มในปี พ.ศ. 2517 ได้นำมาสู่การขยายการพัฒนาอย่างกว้างขวาง ทำให้ได้กาแฟสายพันธุ์ดี วิธีการผลิตภายใต้ระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มูลนิธิโครงการหลวงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกาแฟไทย สร้างรายได้ ให้กับชุมชนบนพื้นที่สูงจากกาแฟพ่อหลวงแพร่ไปทุกดอย เป็นต้นแบบการพัฒนาแบบครบวงจร จากการส่งเสริม และรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร ปีละประมาณ 1,000-1,500 ตัน มูลค่าราว 200 ล้านบาทต่อปี และสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรในประเทศไทย รวมมากกว่า 2,273 ล้านบาท และมูลค่าตลาดกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ รวมประมาณ 34,470 ล้านบาท และได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อรับทราบถึงวิวัฒนาการและคุณูปการของกาแฟ อะราบิกาโครงการหลวง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนากาแฟบนพื้นที่สูง ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดระยะเวลา 55 ปีของโครงการหลวง เพื่อกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจอุตสาหกรรม กาแฟไทยสู่เวทีโลก
ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ กรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ในฐานะ ประธานกรรมการ ฝ่ายจัดประชุมวิชาการและเสวนา กล่าวว่าในวันที่ 11 มิถุนายน 2568 เวลา 9.00 น. จะมีพิธีเปิดงานกาแฟพ่อหลวงสู่ความยั่งยืน ประชุมสัมมนาวิชาการ เสวนาทางวิชาการและนิทรรศการ หลังจากนั้นได้รับเกียรติจาก พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการมูลนิธิโครงการหลวง และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง“การสืบสาน รักษา ต่อยอด การพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน : กาแฟอะราบิกา พืชเศรษฐกิจทางเลือกของโครงการหลวง” กิจกรรมประชุมวิชาการและเสวนา ระหว่างวันที่ 11-12 มิถุนายน 2568 ในเรื่อง“ทิศทางและแนวทางการวิจัยและพัฒนาการผลิตและการตลาดกาแฟอะราบิกาของประเทศไทยและนานาชาติสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเสวนา สถานการณ์ธุรกิจอุตสาหกรรมกาแฟไทย/การส่งเสริมและพัฒนาการปลูกและผลิตกาแฟพื้นที่สูง/กาแฟไทย กาแฟชนิดพิเศษ/นโยบาย/ยุทธศาสตร์:การพัฒนาธุรกิจ/อุตสาหกรรมกาแฟไทยในมิติของความยั่งยืน รวมถึงกิจกรรมภายในงาน อาทิ การแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมกาแฟของหน่วยงานภาคีเครือข่ายของรัฐ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกาแฟ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกร การประกวดแข่งขันบาริสต้าและการประกวดเมล็ด การสาธิตการชงกาแฟ การชิมกาแฟ การทำอาหารจากกาแฟ และกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ การปลูก และการแปรรูปกาแฟ การติดต่อ เจรจาการค้า (Business matching) กิจกรรมบันเทิงและการแสดงดนตรีต่าง ๆ
นางอาณดา นิรันตรายกุล รองผู้อำนวยการ ด้านการพัฒนา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ในฐานะประธานฝ่ายนิทรรศการทางวิชาการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม กล่าวว่า จากความสำเร็จของการดำเนินงานตามแนวทางโครงการหลวงทาง สวพส. ได้น้อมนำผลสำเร็จของมูลนิธิโครงการหลวงไปขยายผลบนพื้นที่สูงอื่น ๆ ภายใต้วิสัยทัศน์ “ชุมชนบนพื้นที่สูงมีความอยู่ดีมีสุข ด้วยการวิจัยและพัฒนา สืบสาน รักษา ต่อยอดงานโครงการหลวงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” โดยดำเนินการแบบครบวงจร พัฒนากาแฟอะราบิกาคุณภาพ ภายใต้ระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวน 2,345 คน พื้นที่ปลูกประมาณ 5,624 ไร่ สร้างรายได้ให้กับชุมชนประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี
นางสาวศิริกร วิวรวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ในฐานะรองประธานกรรมการฝ่ายประสานงานและเลขานุการ กล่าวว่า ทาง สวก. ได้สนับสนุนด้านการวิจัยพัฒนากาแฟอะราบิกาของโครงการหลวงให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญบนพื้นที่สูง ขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตกาแฟอะราบิกาให้เกิดความยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เน้นการพัฒนา ผลิตภัณฑ์กาแฟคุณภาพที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก นำสู่การขยายช่องทางจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศ
ดร.อรทัย วงค์เมธา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ในฐานะคณะกรรมการฝ่ายจัดการประกวดกาแฟคุณภาพ กล่าวถึงความก้าวหน้าของการพัฒนาวิชาการกาแฟในประเทศไทย และกิจกรรมการประกวดกาแฟอะราบิกาเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกร ผู้ปลูกกาแฟสามารถผลิตกาแฟที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาดซึ่งการประกวดมีหลายประเภท
นาย มีชัย อมรพัฒนกุล นายกสมาคมบาริสต้าไทย ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายจัดการแข่งขันบาริสต้า กล่าวว่า มุมมองของภาคเอกชนต่อโอกาสทางเศรษฐกิจของกาแฟ จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของกาแฟในปัจจุบัน การผลักดันให้กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่สร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกร และผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมกาแฟสำหรับการประกวดบาริสต้านั้น เป็นการสนับสนุนแนวคิดการสร้างสรรค์ ศิลปะ และเทคนิคการชงกาแฟ รสชาติดีและสวยงาม ถูกใจผู้บริโภค ซึ่งการประกวดแข่งขันทักษะบาริสต้า นับเป็นการผลักดันศักยภาพของบาริสต้าชาวไทย พร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรมกาแฟไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในเวทีระดับสากล.