26 พฤษภาคม 2568 ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขต 2 กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่ามีเกษตกรชาวสวนทุเรียนจำนวนหนึ่งได้เดินทางติดต่อเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ เรื่องชองการสวมสิทธิ์ GAP และขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการช่วยเช็คข้อมูลว่า GAP ที่ถือครองอยู่ ยังสามารถใช้ได้ปกติหรือไม่ เนื่องจากในขณะนี้มีกระแสข่าวแพร่สะพัดว่า เกษรตกรชาวสวนได้ถูกสวมสิทธิ์ GAP หลายราย โดยมีนายอานนท์ มลิพันธ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ ชี้แจ้งต่อเกษตรกร ถึงความจำเป็นที่ไม่สามารถเช็คสิทธิ์ให้ได้ ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้น จนท.กำลังเร่งดำเนินการตรวจสอบ แก้ไข พร้อมทั้งไม่สามารถให้รายละเอียดต่อสื่อมวลชนได้
ในขณะเดียวกันที่ตลาดผลไม้นานกกก(นา-นก-กก) ต.นานกกก อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นล้งของนายพาณิชย์ อินรงค์ (เฮียหลง) เจ้าของบริษัท รับซื้อทุเรียนในตลาดผลไม้ตำบลนานกกก (นา_นก_กก) ตั้งแต่ช่วงเช้าเกษตรกรชาวสวนทั้ง อ.ลับแล และ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ที่มีเอกสารรับรอง GAP ต่างหอบเอกสารเพื่อขอให้ล้งเฮียหลงช่วยตรวจสอบสิทธิ์ว่ายังคงใช้ได้หรือถูกสวมสิทธิ์ไปแล้ว แต่ทางผู้ประกอบการไม่สามารถตรวจสอบให้ได้ เนื่องจากได้ชะลอการรับซื้อเพื่อการส่งออก และการเช็คระบบจะทำได้กรณีเกษตรกรขายทุเรียนให้ผู้ประกอบการ
ในขณะที่ล้งรับซื้อทุเรียนเฮียหลง บรรยากาศค่อนข้าเงียบ ไม่พบคนงานออกมารอรับซื้อผลผลิตเหมือนเช่นทุกๆวัน
ด้านนางเสงียม ก้อนแก้ว เกษตรกรชาวสวนทุเรียนหมู่ 5 ต.นานกกก กล่าวว่า ตนจัดเตรียมเอกสารทั้งฉบับภาษาไทยและอังกฤษ ได้สิทธิ์จำนวน 3 ไร่ หรือ 15 ตัน ได้รับเมื่อเดือนกรกฎาคม 67 ยังไม่ได้ใช้แม่แต่ครั้งเดียว ตั้งใจจะใช้ฤดูกาลปี 68 เมื่อตรวจสิทธิ์ ระบบแจ้งว่า “ปริมาณในระบบไม่เพียงพอกับปริมาณที่ขอ” หมายถึง เอกสารถูกนำไปใช้แล้ว ทั้งๆที่ยัง ไม่ได้ขายทุเรียน และชาวสวนทุเรียน อ.ลับแล ต่างเริ่มวิตกกังวล ว่าหากตัดทุเรียนหมอนทองในฤดูกาลนี้ GAP จะใช้ได้ หรือไม่ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหา ก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดเดือนมิถุนายน นี้เป็นจำนวนมาก
ด้านนายเฉลา นวนสีใส ประธานคณะกรรมการตลาดกลางผลไม้นานกกก กล่าวว่า หลังมีเรื่อง GAP ของเกษตรกรชาวสวนทุเรียนโดยสวมสิทธิ์ การซื้อขายเงียบเหงา เกษตรกรที่ถูกสวมสิทธิ์กว่า 20 ราย ไม่สามารถนำทุเรียนขายเพื่อการส่งออกได้ กำลังเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลทุเรียนลับแล โดยเฉพาะหมอนทอง ที่ออกสู่ตลาดมากเดือนมิถุนายน GAP ใช้ไม่ได้ส่งผลต่อราคาทุเรียนตกต่ำ เป็นอาชีพและรายได้หลักของเกษตรกรปลูกทุเรียน ดูแลรักษาลงทุน 1 ปี หวังขายเพื่อส่งออกได้ ราคาก็จะสูง GAP มีปัญหาจนถึงปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาชี้แจ้งอธิบาย
นายพาณิชย์ อินรงค์ (เฮียหลง) เจ้าของล้งรับซื้อทุเรียนในตลาดนานกกกและภายในจังหวัดอุตรดิคถ์ กล่าวว่า ตนเช่าพื้นที่ตลาดกลางผลไม้ตำบลนานกกก เปิดล้งรับซื้อทุเรียนในจังหวัดอุตรดิตถ์ และเริ่มรับซื้อทุเรียนหมอนทองจากชาวสวนอำเภอลับแลล็อตแรก ประมาณ 100 ตัน หลังทำการคัด นำทุเรียน 60 ตันใส่ตู้คอนเทนเดอร์ 3 คัน เพื่อส่งออก ได้มีการตรวจเช็คหนังสือรับรอง GAP ของชาวสวนที่แนบให้กับผู้ประกอบการหลังซื้อขาย ปรากฏว่า GAP ของชาวสวน ถูกนำไปใช้เต็มระบบแล้ว เบื้องต้นจากที่ตรวจเช็คพบชาวสวนทุเรียนลับแล ที่นำผลผลิตมาขายที่ล้ง 27 คน พื้นที่กว่า 227 ไร่ รวมน้ำหนักทุเรียนกว่า 1,135,000 กก. ถูกสวมสิทธิ์ GAP ในส่วนของผู้ประกอบการ เมื่อไม่สามารถระบุแหล่งที่มาของสินค้าได้ ไม่สามารถส่งออกได้ เบื้องต้นต้องขอความช่วยเหลือไปยังเครือข่ายพ่อค้าแม่ค้าห้องเย็นที่รู้จักกัน ช่วยรับซื้อเป็นการจำหน่วยในประเทศ แม้ราคาที่ขายจะขาดทุน แต่ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย เบื้องต้นทางล้งชะลอการรับซื้อเพื่อการส่งออกจนกว่าทุกอย่างจะชัดเจน แต่ยังครับซื้อที่จำหน่ายในประเทศ
นาคา คะเลิศรัมย์ รายงาน