2 กรกฎาคม 2568 ดร.ชญานิน กฤติยะโชติ ผู้จัดการหน่วยจัดการ สสส. จังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า ผลการวิจัยครั้งแรกในประเทศไทยชี้ว่า โมเดล “ด่านชุมชนปากหวาน” ที่ใช้การเตือนเชิงบวกแทนการปรับโทษ มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สูงกว่าวิธีการเดิมอย่างมีนัยสำคัญ โดยใช้งบประมาณเพียง 1,235 บาทต่อคน สามารถเพิ่มอัตราการสวมหมวกนิรภัยได้ 6-7% และสร้างผลตอบแทนการลงทุนสูงถึง 275% จากการศึกษาในจังหวัดศรีสะเกษ ที่ครอบคลุม 22 อำเภอ 206 ตำบล
เป็นระยะเวลา 8 เดือน ที่ตนนำทีมวิจัยจากจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ ได้ฝึกอบรมแกนนำชุมชน จำนวน 1,190 คน ด้วยงบประมาณ 498,700 บาท จากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) และติดตามผู้ใช้รถจักรยานยนต์กว่า 10,000 คน ผลการศึกษาพบว่า อัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ขับขี่เพิ่มขึ้น จาก 38.80% เป็น 44.83% และผู้ซ้อนท้ายเพิ่มขึ้น จาก 23.84% เป็น 31.17% (p<0.001) ซึ่งมีความคุ้มค่ามากกว่าการรณรงค์ผ่านสื่อมวลชน และการบังคับใช้กฎหมาย อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ แนวคิด “ด่านชุมชนปากหวาน” เกิดจากการเข้าใจว่าการบังคับใช้กฎหมายแบบดั้งเดิมไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ยั่งยืนได้ เราจึงใช้หลักการ Social Cognitive Theory โดยให้แกนนำชุมชนออกมาให้กำลังใจ ชมเชย และตักเตือนด้วยความห่วงใย แทนการลงโทษ ผลลัพธ์ที่ได้คือการสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร ทำให้ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่เพราะกลัว
ซึ่งการศึกษานี้ใช้มาตรฐาน Thai HTA (Health Technology Assessment) อย่างเคร่งครัด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์ความคุ้มค่าของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ 160,000 บาทต่อ QALY พบว่ามี Net Monetary Benefit สูงถึง 846,500 บาท แสดงความคุ้มค่าระดับสูงมาก และจากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ พบว่าจำนวนแกนนำมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (r=0.58, p<0.05) ซึ่งเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของการลงทุนในการพัฒนาแกนนำชุมชน
ด้าน ดร.กุสุมา มีศิลป์ นักวิจัยร่วมจากคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ เปิดเผยว่า จุดแข็งของโมเดลนี้คือการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นกับเทคโนโลยีดิจิทัล เรามีช่องทางสื่อสารผ่าน Qr Code ที่ช่วยให้แกนนำติดตามและรายงานผลได้แบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถปรับปรุงการทำงานได้ทันที การที่ผลตอบแทนการลงทุนสูงถึง 275% มาจากการประหยัดค่ารักษาพยาบาลประมาณ 1.87 ล้านบาท จากการป้องกันการบาดเจ็บได้ 22 ราย ซึ่งปัจจุบันมีแผนการขยายผลไปยังจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสานตอนล่าง ที่มีบริบททางวัฒนธรรมและปัญหาอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์คล้ายคลึงกัน นี่เป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะสร้างนวัตกรรมทางสังคม สร้างสรรค์โซลูชันเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ Thailand 4.0 อย่างสมบูรณ์.
บุญทัน ธุศรีวรรณ รายงาน