ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเด่น แม่ฮ่องสอน

ชุมชนยลวิถี บ้านต่อแพ อ.ขุนยวม ถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่น แก่เด็ก เยาวชน

13  กรกฎาคม 2568 ณ ศูนย์การเรียนรู้ทางวัฒนธรรมชุมชนพื้นถิ่นวัดต่อแพ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน นางสาวกมลลักษณ์ บุญซื่อ วัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่น บ้านต่อแพ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายใต้โครงการส่งเสริมการดำเนินงานชุมชนและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม

นายบุญสม เมืองนำโชค ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุนยวม เปิดเผยว่า ชุมชนบ้านต่อแพ ต.แม่เงา อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ และ ได้รับการคัดเลือก สุดยอดชุมชนต้นแบบ เที่ยวชุมชน ยลวิถี จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำปี ๒๕๖๖
ชุมชนบ้านต่อแพ มีศูนย์การเรียนรู้ทางวัฒนธรรมชุมชนพื้นถิ่นวัดต่อแพ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยพระครูอนุกูลกัลยาณพจน์ เจ้าอาวาสวัดต่อแพ และพ่อจางณัฐพล สุวรรณสังข์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวไทใหญ่ ชุมชนบ้านต่อแพ อีกทั้ง ยังเป็นชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติ มีการอนุรักษ์ สืบสาน รักษา และต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ด้านศิลปะ ดนตรี และการแสดง


พระครูอนุกูลกัลยาณพจน์ เจ้าคณะตำบลขุนยวม – แม่เงา เจ้าอาวาสวัดต่อแพ ได้เจริญพรว่า การอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งสะท้อนถึงวิถีชีวิต ความเชื่อ และความคิดสร้างสรรค์ของบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การต้องลายไทใหญ่ผสมพม่า” ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมอันประณีตที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของชาวบ้านต่อแพ โครงการในวันนี้ จึงเป็นโอกาสอันดี ที่จะส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ ได้เรียนรู้และภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของตนเอง อีกทั้งยังเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ และพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีศูนย์การเรียนรู้ทางวัฒนธรรมชุมชนพื้นถิ่นวัดต่อแพ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ
นางสาวกมลลักษณ์ บุญซื่อ วัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เปิดเผยว่า โครงการที่จัดทำในครั้งนี้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน เน้นส่งเสริมภูมิปัญญาที่ถ่ายทอด ได้แก่ การต้องลายแบบไทใหญ่ผสมพม่า เช่น การทำปราสาทราชวัตร (จองพารา) โคมไฟ และตุงฉลุตำข่อน ซึ่งล้วนเป็นงานหัตถศิลป์ที่สะท้อนอัตลักษณ์วัฒนธรรม สามารถสร้างทั้งคุณค่าเชิงวัฒนธรรมและมูลค่า ทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่ได้เรียนรู้และสามารถสืบทอดภูมิปัญญาได้อย่างถูกต้อง เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมที่สร้างรายได้แก่ชุมชน เพื่อเป็นต้นแบบของศูนย์เรียนรู้ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
โดยมีฐานการเรียนรู้ทั้งหมด ๓ ฐาน ได้แก่ ฐานต้องลายไทใหญ่ ฐานตุง ฐานโคมไฟ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคท้องถิ่น นักเรียน และประชาชน รวมทั้งสิ้นกว่า ๕๐ คน

ภานุเดช ไชยสกูล  รายงาน