ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวศรีสะเกษ ข่าวเด่น

สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจุฬาภรณ์ ศรีสะเกษ เตรียมขนย้ายเสือ 16 ตัว ออกนอกพื้นที่ หวั่นเหตุหลุดกรงเป็นอันตรายต่อ ปชช.

26 กรกฎาคม 2568 นายสาธิต พันธุมาศ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจุฬาภรณ์ ต.ปรือใหญ่ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจุฬาภรณ์ มีสัตว์ป่าในการดูแล จำนวนประมาณกว่า 500 ตัว บนพื้นที่กว่า 6,000 ไร่ ในเขตรอยต่อของ 3 อำเภอ คือ อ.ภูสิงห์ อ.ขุขันธ์ และอ.ขุนหาญ เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์สัตว์ป่าก่อนที่จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อเป็นการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศของป่า มีสัตว์ป่านานาชนิด แยกเป็นประเภท แบ่งเป็นโซนสัตว์กีบ อาทิ เก้ง กวาง เนื้อทราย ละอง ละมั่ง เป็นต้น และโซนสัตว์ปีก อาทิ อินทรีย์ เหยี่ยว ไก่ฟ้า เป็นต้น รวมถึงโซนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาทิ ลิง นางอาย อีเห็น ชะมด และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งสัตว์ใหญ่ที่สุดที่เราทำการเพาะเลี้ยงในสถานีฯแห่งนี้ คือ เสือโคร่ง จำนวน 15 ตัว และเสือดาว จำนวน 1 ตัว รวมเป็นเสือ 16 ตัว

สำหรับสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ในขณะนี้ พื้นที่ อ.ขุขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจุฬาภรณ์ ถือเป็นพื้นที่สีแดงตามคำสั่งของฝ่ายความมั่นคง ตอนนี้คือรอฟังสัญญาณจากทาง อ.ขุขันธ์ ว่าจะมีคำสั่งการให้มีการอพยพหรือไม่ จากนั้นจะแจ้งผู้บังคับบัญชา เพื่อขออนุมัติคำสั่งในการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่า ประเภท เสือโคร่ง และเสือดาว รวม 16 ตัว ออกจากพื้นที่ อย่างเร่งด่วน เนื่องจากหากเสือตกใจ หรือ กรงคอกเสือ ถูกทำลาย เสือหลุดกรง จะเป็นอันตรายกับพี่น้องประชาชนได้ จึงจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายเสือออกนอกพื้นที่ เพื่อความปลอดภัย

ทั้งนี้ได้เตรียมทีมสัตวแพทย์ จากสวนสัตว์อุบลราชธานี ร่วมกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 9 อุบลราชธานี พร้อมกับนำกรงสำหรับเคลื่อนย้ายเสือทุกตัวไว้พร้อมแล้ว ซึ่งต้องใช้ความชำนาญและระมัดระวังเป็นอย่างมาก โดยขั้นตอนแรก คือการวางยาสลบ จากนั้นรอเวลายาออกฤทธิ์จนเสือหลับ ใช้ยาเร่งไม่ได้ ต้องค่อยๆดำเนินการ แล้วจับเข้ากรงทีละตัว ด้วยความระมัดระวัง ปิดล็อคกรงและรอเสือฟื้น กระทั่งรู้สึกตัว ตื่นจากยาสลบ ถึงจะสามารถดำเนินการเคลื่อนย้ายได้

โดยการเคลื่อนย้ายเบื้องต้น จะใช้รถยนต์บรรทุก 6 ล้อ จำนวน 2 คัน ซึ่งจะสามารถบรรทุกได้คันละ 3 ตัว รวมครั้งละ 6 ตัว ไปยังสวนสัตว์อุบลฯ ด้วยระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งคาดต้องทำการขนย้าย จำนวน 3 รอบ ถึงจะหมด ส่วนสัตว์อื่นๆจะยังไม่ได้ทำการอพยพ เนื่องจากกรงมีขนาดใหญ่และกว้าง.

ทีมข่าว จ.ศรีสะเกษ  รายงาน