ที่ วัดศรีมงคล (วัดคลองคล้า) ตำบลหนองเเสง อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก พระครูประคุณธรรมประโชติ เจ้าอาวาสวัดศรีมงคล พร้อมกับคณะกรรมการวัด และชาวบ้านไทยพวน ร่วมสืบสานประเพณีสรงน้ำพระคำตัน ประจำปี 2568 อัญเชิญพระคำตันทองคำ ศักดิ์สิทธิ์ อายุกว่า 200 ปี ที่ชาวบ้านไทยพวนบ้านคลองคล้าศรัทธาเลื่อมใส เป็นสมบัติล้ำค่าที่ถูกขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นสมบัติของชาติเป็นที่เรียบร้อย และจะอัญเชิญให้ชาวบ้านยลโฉมสักการะแค่ปีละครั้ง โดยได้รับเกียรติจาก นายสรรเสริญ คำทอง นายอำเภอปากพลี เป็นประธานในพิธีสรงน้ำพระคำตัน พร้อมด้วย ผู้นำชุมชนและชาวบ้านคลองคล้าร่วมพิธีจำนวนมาก
”พระคำตัน“ องค์เล็กทำจากทองคำแท้ องค์ใหญ่ทำจากนอแรด ส่วนบางองค์เป็นเนื้อผสม เงิน ทอง สำริด การสรงน้ำพระคำตันนั้น ชาวบ้านจะเตรียมขันใส่น้ำหรือแก้วน้ำโรยด้วยดอกไม้ต่างๆ แล้วใช้ใบต้นแก้วพรมน้ำสรงน้ำพระคำตัน ซึ่งชาวบ้านถือปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา และจะปลูกฝังให้กับลูกหลานได้มีส่วนร่วมสืบสานอนุรักษ์ประเพณีของชุมชน เพราะ 1 ปี มีแค่ครั้งเดียวที่จะได้มีโอกาสขอพร ขอความเป็นสิริมงคลและเป็นบุญที่ได้เห็นพระคำตัน และที่สำคัญที่ชาวบ้านตั้งตารอก็คือ น้ำที่อยู่ในถาดพระคำตันเปรียบเสมือนน้ำมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านจะนำกลับไปประพรมในบ้านเพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย และเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและคนในครอบครัว
ด้าน ร้อยตรีวันชัย เมืองยม อายุ 69 ปี ชาวบ้านคลองคล้า เล่าให้ฟังว่า “พระคำตัน” 1 ปี จะนำออกมาให้ชาวบ้านยลโฉมครั้งเดียว ชาวบ้านจะหึงหวงเป็นอย่างมากไม่ค่อยให้ใครเข้าใกล้ เป็นพระเก่าแก่อายุ 200 กว่าปี เจ้าอาวาสเก็บดูแลรักษาเป็นอย่างดี จึงเป็นที่เคารพศัทธาของชาวบ้านเป็นอย่างมาก 1 ปีจะเอาออกมาสรงน้ำครั้งเดียวแค่นั้นแหล่ะ ความเชื่อของชาวบ้านคือการเอาน้ำมนต์ที่รดท่าน เอากลับไปรดบ้านเป็นสิริมงคล และขอพรให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ได้พืชผลทางการเกษตรที่ต้องการ ชาวไร่ ชาวสวน จะได้ทำไร่ไถนา เชื่อพิธีสรงน้ำพระคำตันนั้น มีความศักดิ์สิทธิ์จริงๆ จากนั้นชาวบ้านได้ไปไหว้และสรงน้ำศาลปู่ตา เสมียนทอง เพราะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน ไม่ว่าจะจัดงานอะไร ชาวบ้านก็ต้องมาจุดธูปไหว้บอกศาลปู่ตา เพื่อให้ปกปักรักษาคุ้มครองชาวบ้านคลองคล้าทุกคน
ตามประวัติพระคำตันทองคำ มีอายุกว่า 200 ปี ชาวไทยพวนในจังหวัดนครนายก เชื่อกันว่าอพยพเข้ามาในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีประมาณปี พ.ศ.2322 เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงโปรดเกล้าฯให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทร์และหัวเมืองต่างๆ ชาวพวนได้ถูกต้อนมาอยู่ในไทย คือเมือง สระบุรี ลพบุรี ฉะเชิงเทรา และนครนายก ซึ่งจังหวัดนครนายกจะมีชาวไทยพวน แบ่งออกเป็นชุมชนและที่วัดคลองคล้าแห่งนี้ ก็จะมีกลุ่มไทยพวนมากพอสมควรที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานกันที่นี่ เชื่อว่าพระคำตันทองคำได้ติดตัวชาวพวนที่อพยพมา เป็นพระที่ถูกใจและเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวไทยพวน ซึ่งทุกปีช่วงหลังสงกรานต์แล้วจะมีการสรงน้ำ “พระคำตัน” ขอพรในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะตรงกับเดือนหกของไทยและจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูการ ซึ่งพระคำตันทองมีเพียงแค่ 10 องค์ และเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ที่ชุมชนไทยพวนบ้านคลองคล้าศรัทธานับถือ เป็นพระคู่บ้าน คู่เมือง ของชาวไทยพวนบ้านคลองคล้า ที่ถูกเก็บรักษาและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นสืบไป
เนรมิต มงคลกิตติกานต์ รายงาน