พระครูอ๊อด วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ ลงพื้นที่แจกอาหารช่วยเหลือสุนัขจรจัดรอบอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า พบมากกว่า 200 ตัว ขาดโภชนาการและการดูแลที่เหมาะสม
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2568 พระครูอ๊อด วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำทีมจิตอาสาลงพื้นที่โดยรอบอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแจกจ่ายอาหารให้แก่สุนัขจรจัดที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายทั่วบริเวณ โดยใช้ “ข้าวกระทงใบไม้” ซึ่งเป็นการจัดเตรียมอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ สนับสนุนอาหารเม็ดสำเร็จรูปไว้เพื่อนำไปแจกจ่ายเพิ่มเติมให้จิตอาสาในพื้นที่ที่ช่วยกันดูแลให้อาหารสุนัขเหล่านี้ในแต่ละวัน
จากการสำรวจพบว่ามีสุนัขจรจัดมากกว่า 200 ตัว อาศัยอยู่ในบริเวณโดยรอบของพื้นที่อ่างเก็บน้ำ สภาพโดยรวมของสุนัขส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะขาดสารอาหารและมีอาการเจ็บป่วย ทั้งยังมีพฤติกรรมที่ไม่คุ้นชินกับผู้คน แม้ในบางพื้นที่จะมีการดำเนินการทำหมันโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือกลุ่มอาสาสมัครแล้วบางส่วน แต่ปัญหาการเพิ่มจำนวนของสุนัขจรจัดยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากพบว่าสุนัขบางตัวเป็นลูกสุนัขที่เกิดในพื้นที่ ขณะที่บางส่วนเป็นสุนัขที่ถูกนำมาปล่อยโดยไร้ผู้รับผิดชอบ
ในวันเดียวกัน พระครูอ๊อดยังได้เดินทางไปเยี่ยมวัดแม่หยวก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ให้การอุปการะดูแลสุนัขจรจัดมากกว่า 300 ตัว โดยวัดแห่งนี้ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลทั้งด้านอาหาร ยารักษาโรค และการบริหารจัดการทั่วไป รวมถึงยังทำหน้าที่เป็นสถานที่ประกอบพิธีฌาปนกิจสุนัขที่เสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสุนัขจรจัดหรือสุนัขที่มีเจ้าของ โดยสามารถดำเนินการเผาร่างสุนัขได้เพียงวันละไม่เกิน 4 ตัวเท่านั้น ซึ่งเป็นภารกิจที่ต้องใช้ทั้งทรัพยากรและแรงงานจากพระสงฆ์และอาสาสมัครภายในวัดอย่างต่อเนื่อง
พระครูอ๊อดเปิดเผยว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแก่สุนัขจรจัดในพื้นที่ ซึ่งยังขาดแคลนทั้งอาหารและการดูแลด้านสุขภาพอย่างเพียงพอ พร้อมขอให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาสุนัขจรจัดอย่างจริงจัง ทั้งในมิติการควบคุมประชากรสัตว์ การรณรงค์ไม่ทิ้งสัตว์เลี้ยง การส่งเสริมให้ทำหมันสัตว์เลี้ยงอย่างต่อเนื่อง และการสนับสนุนหน่วยงานหรือสถานที่ที่ทำงานด้านนี้อย่างยั่งยืน
“สุนัขจรจัดก็มีชีวิต มีหัวใจ ไม่ต่างจากมนุษย์ หากเราให้โอกาสและความเมตตา พวกเขาก็สามารถเป็นเพื่อนร่วมโลกที่มีความสุขได้เช่นกัน” พระครูอ๊อดกล่าว พร้อมย้ำว่าการแก้ไขปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสังคมแห่งความเอื้อเฟื้อและความรับผิดชอบร่วมกัน.