ทีมควาญช้างบ้านตระกูลแสน จัดกิจกรรม “โยนขี้ช้างคืนสู่ป่า” ใช้ประโยชน์จากมูลช้างเป็นปุ๋ยธรรมชาติเสริมการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว
เชียงใหม่ – เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ทีมควาญช้างและอาสาสมัครจากบ้านช้างตระกูลแสง ดูช้างดูดอย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “โยนขี้ช้างคืนสู่ป่า” นำมูลช้างที่ขับถ่ายในแต่ละวันกลับคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นปุ๋ยธรรมชาติในพื้นที่ป่าที่อยู่โดยรอบ
โดยช้างแต่ละเชือกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว มีน้ำหนักตัวเฉลี่ยประมาณ 3,000 กิโลกรัม ซึ่งต้องบริโภคอาหารอย่างน้อยวันละ 10% ของน้ำหนักตัว หรือประมาณ 300 กิโลกรัมต่อวัน ด้วยระบบย่อยอาหารแบบกระเพาะเดี่ยว ช้างสามารถดูดซึมสารอาหารได้เพียงร้อยละ 40 เท่านั้น ทำให้มีมูลที่ขับถ่ายออกมาซึ่งยังอุดมไปด้วยเส้นใยพืช แร่ธาตุ และสารอาหารอีกเป็นจำนวนมากที่ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง
กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นในช่วงเริ่มต้นของฤดูฝน ถือเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการใช้มูลช้างเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเตรียมความพร้อมของพื้นที่ป่าในการฟื้นฟูและเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ โดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน ควาญช้าง และนักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมที่ทั้งให้ความรู้และความสนุกสนาน พร้อมได้มีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ยังได้มีการนำช้างสองเชือกได้ขนย้ายมูลช้างไปยังพื้นที่ป่า คือ พลายวาเลนไทน์ และพลายงาม
นอกจากนี้ พระครูสังฆรักษ์วีรวัฒน์ วีรวฑฺฒโน (พระครูอ๊อด วัดเจดีย์หลวง) อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์การปกครอง มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ ยังได้สนับสนุนกิจกรรมฟื้นฟูป่า โดยเป็นผู้ริเริ่มโครงการ “ทอดผ้าป่าต้นไม้” เพื่อรวบรวมกล้าไม้หลากหลายชนิดจากผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศ เพื่อนำไปปลูกในพื้นที่รอบปางช้างและป่าชุมชนโดยรอบ พร้อมทั้งใช้ปุ๋ยมูลช้างเป็นองค์ประกอบสำคัญในการฟื้นฟูผืนป่าอย่างยั่งยืน
กิจกรรมดังกล่าวนับเป็นแบบอย่างของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ผสมผสานองค์ความรู้ วิถีชีวิตท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างสอดคล้องกัน อันจะนำไปสู่การดูแลสิ่งแวดล้อม.