ข่าว ราชบุรี

พช.ราชบุรี : ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดราชบุรีและนายกเหล่ากาชาดจังหวัดราชบุรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP

พช.ราชบุรี : ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดราชบุรีและนายกเหล่ากาชาดจังหวัดราชบุรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP

ประเภทผ้า ตามโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 2566 เวลา 08.30 น. ณ ร้านผ้ามณี ผลิตและจำหน่ายผ้าทอคูบัว และ กลุ่มทอผ้าจกคุณยายซ้อน กำลังหาญ
นางยุพิน เศรษฐศักดาศิริ พัฒนาการจังหวัดราชบุรี พร้อมด้วย นางอังคณา ปะดุกา พัฒนาการอำเภอเมืองราชบุรี นางภรมน นรการกุมพล ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดราชบุรี นางกิตติ์รวี อภิสินรุ่งโรจน์ รองประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดราชบุรี นางสาวชุติมา กล่อมเกลี้ยง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดและเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอเมืองราชบุรี ลงพื้นที่ให้การต้อนรับ นางพรศรี ตรงศิริ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดราชบุรีและนายกเหล่ากาชาดจังหวัดราชบุรี พร้อมด้วย นางศรินทิพย์ ศีลาเทวากูล รองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดราชบุรีและรองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดราชบุรี และคณะ พร้อมทั้งนำเยี่ยมชมการผลิตของผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า
ร้านผ้ามณี ผลิตและจำหน่ายผ้าทอคูบัว จำหน่ายผ้าทอพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ชาวไทยยวน จังหวัดราชบุรี เช่น ผ้าซิ่นตีนจก ซิ่นตา ซิ่นซิ่ว ซิ่นแล ผ้าทอยกมุก ผ้าลายสายรุ้ง ผ้าทอสีพื้น ผ้าขาวม้า ผ้าทอลายประยุกต์ต่าง ๆ ชุดสำเร็จรูปสตรี เสื้อผ้าสุภาพบุรุษ และรับทอผ้าตามสั่งทุกชนิด โดยมีคุณจิราภา สุขเกษม เป็นเจ้าของผู้ประกอบกิจการ ซึ่งเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 น. -17.00 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ ห่างจากตัวเมืองราชบุรีประมาณ 4 กิโลเมตร กลุ่มทอผ้าจกคุณยายซ้อน กำลังหาญ เป็นกลุ่มที่มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประเภทเครื่องทอ (ผ้าซิ่นตีนจกไทยวน-คูบัว) ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เด็กชายรชต บัวเผื่อน (น้องเบส) อายุ 15 ปี ผู้มีพรสวรรค์การทอผ้าซิ่นตีนจกไทยวน-คูบัวซึ่งเป็นหลานของคุณยายซ้อน กำลังหาญ ผู้ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้าน
ด้านการทอผ้า ได้เคยถวายผ้าจกโบราณสำหรับใช้คลุมหรือปกศีรษะนาค แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ซึ่งได้รับการสนับสนุนและดำเนินการตามโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญามาอย่างต่อเนื่อง
ในการนี้ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดราชบุรีและพัฒนาการจังหวัดราชบุรี ได้มอบแนวทางในการพัฒนาลายผ้าอัตลักษณ์จังหวัดราชบุรี และส่งเสริมการใช้สีธรรมชาติแทนสีเคมีในการย้อมเส้นฝ้ายและเส้นไหมสำหรับทอผ้าซิ่นตีนจก-คูบัว เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า และการสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพื่อเพิ่มช่องทางให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

การขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ว่า กรมการพัฒนาชุมชนในฐานะหน่วยงานที่มีแนวนโยบายสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทย ได้ขับเคลื่อนและสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับผู้ประกอบการผ้าไทย อนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน มีการผลักดันรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย จนมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เรื่อง มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในการสนองงานแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมั่นคงและยั่งยืน พระองค์ยังทรงตั้งพระทัยมั่นในการสืบสานพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้พระราชทานโครงการในพระราชดำริมากมาย ที่ยังประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนชาวไทยมากว่า 60 ปี พระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริมและกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัยและทุกโอกาสที่ขับเคลื่อนโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด เป็นที่ประจักษ์ ด้วยพระองค์ทรงพระราชทานแนวทางพระดำริ และพระวินิจฉัยในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยในภูมิภาคต่าง ๆ ที่กำลังจะสูญหายให้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง นำมาซึ่งการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างชีวิตที่ดีให้กับช่างทอผ้า และครอบครัวอย่างยั่งยืน

สุพจน์ วรสหวัฒน์/รายงาน