ข่าวรัฐสภา

ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเจนีวา (CICG) นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วย นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์

วันที่ 14 ตุลาคม 2561 เวลา 14.30–17.30 นาฬิกา (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเจนีวา (CICG) นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วย นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ในฐานะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี และนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล ร่วมการอภิปรายย่อย (Panel Discussion) ในหัวข้อ “ความเสมอภาคทางเพศในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” (Gender equality in science and technology)

โดยกล่าวว่า “ปัจจุบัน ผู้หญิงหลายคนยังคงพบกับปัญหาเรื่องเพศภาวะ การเหมารวมว่าผู้หญิงต้องทำงานบ้านเท่านั้น แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและตลาดแรงงาน ผู้หญิงเริ่มออกไปทำงานมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต ด้วยเหตุนี้ นักเรียนในมหาวิทยาลัยจึงต้องวางแผนอาชีพหลังจากตนเองจบการศึกษา ซึ่ง STEM หรือแนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการความรู้ใน 4 สหวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์นั้นกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน
สถิติการศึกษาของไทยในปี 2559 แสดงตัวเลขสตรีที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สูงกว่าผู้ชายที่จบการศึกษาในสาขาวิชาเดียวกัน โดยคิดเป็นร้อยละ 61.98 และร้อยละ 38 ตามลำดับ เช่นเดียวกับนักศึกษาปวช. ปวส. สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ พบว่าจำนวนของนักศึกษาสตรีมีมากกว่านักศึกษาชายที่เรียนในสาขาวิชาเดียวกัน โดยคิดเป็นร้อยละ 64.93 และ 35.07 ตามลำดับ ตัวเลขดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่านักเรียนหญิงในไทยนิยมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ
สำหรับบทบาทของสมาชิกรัฐสภาคือการส่งเสริมสะเต็มศึกษาเชิงนวัตกรรมโดยการเสนอกฎหมายและพิจารณาร่างกฎหมายในเรื่องสะเต็มศึกษาและคิดค้นหลักสูตรใหม่ในการแก้ไขช่องว่างของทักษะในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยโลกที่หมุนและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้เอง จึงควรจะได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในการวิจัยและพัฒนา (R&D) วิชาการ งบประมาณ และการพัฒนาทรัพยากรบุคคล

บทบาทอีกประการหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาคือการทำให้ผู้กำหนดนโยบายได้ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์สำหรับคนรุ่นต่อไป รัฐบาลไทยในฐานะหุ้นส่วนความร่วมมือกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อเสริมพลังให้กับนักเรียนหญิงของไทยในชนบทเมื่อปีที่ผ่านมาโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้กับภาคการเกษตร โดยนักเรียนหญิงและผู้นำชนชนสตรีจำนวนกว่า 200 คน ได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีโดรนในการทำนา
นอกจากนี้ เพื่

อให้การดำเนินโครงการต่าง ๆ ประสบผลสำเร็จ ประชาชนทั่วไปจะต้องสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งรัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาสังคม ซึ่งขณะนี้ได้ทำการติดตั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไฮสปีดฟรีภายใต้โครงการ “ประชารัฐ” ซึ่งได้ติดตั้งไปแล้วจำนวน 24,700 หมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและสร้างทักษะความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว ยังเป็นการเชื่อมชุมชนในชนบทเข้าสู่ตลาดโลกอีกด้วย

ภาพ/ข่าว กฤษรชฏะชญตว์ กฤษพิพัฒนโภคิน ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน