Reporter&Thai Army ข่าว สรุาษฎร์ธานี

สุราษฎร์ธานี มทภ.4 ร่วมพิธีสดุดีและบำเพ็ญกุศลถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต สักการะพระอนุสาวรีย์ 5 แห่งทั่วจังหวัดสุราษฎร์ธานี

สุราษฎร์ธานี มทภ.4 ร่วมพิธีสดุดีและบำเพ็ญกุศลถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต สักการะพระอนุสาวรีย์ 5 แห่งทั่วจังหวัดสุราษฎร์ธานี

วันนี้ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.30 น. ที่หน้าลานพระอนุสาวรีย์ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ค่ายวิภาวดีรังสิต อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ประธานในพิธี วันวิภาวดีรังสิตรำลึกครบรอบ 47 ปี วางพวงมาลา และประกอบพิธีสงฆ์เพื่อสดุดีแห่งความเสียสละ ความจงรักภักดีด้วยการทำงานอย่างถวายชีวิตแก่ประโยชน์ของชาติบ้านเมืองและพี่น้องประชาชนโดยส่วนรวม โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ทหารตำรวจ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภาคประชาชนเข้าร่วมพิธี

ต่อมาแม่ทัพภาคที่ 4 ได้เดินทางไปยัง โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเวียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อร่วมพิธีสดุดีบำเพ็ญพระกุศลถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ในวันวิภาวดีซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ ลานพระอนุสาวรีย์ภายในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โดยมีหม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต พระธิดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต/ประธานมูลนิธิวิภาวดีรังสิต,นายปานศักดิ์  รังสิพราหมณกุล กรรมการมูลนิธิฯ,รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พี่น้องประชาชนในพื้นที่และใกล้เคียงร่วมพิธี โดยได้จัดให้มีการแสดงสดุดีถวายอาลัย สรงน้ำ ถวายมาลัย วางพวงมาลา และมอบสิ่งของให้แก่ผู้สูงอายุ

สำหรับวัน “วิภาวดีรังสิตรำลึก” จัดขึ้นเพื่อเป็นการสดุดีวีรกรรมของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต และแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที สำนึกในพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่มีต่อข้าราชการทหาร ตำรวจ และประชาชน ซึ่งสมเด็จพระองค์หญิงทรงมีพระทัยเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อประกอบพระกรณียกิจ ทั้งพระองค์ยังเป็นที่รักยิ่งของชาวบ้าน ในอำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้นำความเจริญต่าง ๆ ไปสู่พื้นที่จนได้รับฉายาว่าเจ้าแม่พระแสง ทรงประกอบพระกรณียกิจจนกระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์ จากการถูกผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ยิงเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง กระสุนถูกพระองค์ท่านสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2520 ทั้งที่พระทัยยังทรงห่วงกังวลผู้อื่น พระองค์ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจเป็นชาติพลี ตราบจนวาระสุดท้าย

สำหรับพระประวัติ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงเป็นพระธิดาในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส ต้นราชสกุล “รัชนี”) และหม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ (วรวรรณ) รัชนี ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2463 ทรงมีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รัชนี เมื่อสิ้นพระชนม์ (16 กุมภาพันธ์ 2520) ทรงได้รับการสถาปนาเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต โดย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2520

พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตทรงเป็นนางสนองพระโอษฐ์พิเศษในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยได้ตามเสด็จต่างประเทศหลายครั้ง และทรงเป็นนักประพันธ์ในพระนามปากกา ว.ณ ประมวลมารค มีผลงานที่ได้รับความนิยมอย่างสูงเช่น “ปริศนา” ซึ่งเคยถูกนำมาดัดแปลงเป็นละครและภาพยนตร์มาแล้ว

ในช่วง 10 ปีสุดท้ายของพระชนม์ชีพ พระองค์ได้ทรงปฏิบัติภารกิจแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ พระองค์ทรงปฏิบัติภารกิจด้วยความอุตสาหะวิริยะ โดยไม่ทรงคำนึงถึงความลำบากและเหน็ดเหนื่อย แม้จะต้องเสด็จไปในที่กันดารก็ไม่ทรงย่อท้อ

และเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2520 พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตเสด็จไปเยี่ยมเยียนทหาร ตำรวจ และประชาชน ตามปกติที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ระหว่างการเดินทางกลับถูกซุ่มยิงโดยกลุ่มผู้ก่อการร้าย จนเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งต้องลงจอดฉุกเฉินที่สนามหน้าโรงเรียนวัดบ้านส้อง เพราะเครื่องชำรุดบินต่อไม่ได้ ส่วนพระองค์เองถูกกระสุนปืนของคนร้ายได้รับบาดเจ็บเป็นแผลฉกรรจ์ ระหว่างการเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ลำใหม่ที่เดินทางมารับพระองค์ไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี หลังได้ทรงฝากให้บุคคลใกล้ชิดกราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ และครอบครัวของพระองค์แล้ว พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตได้ทรงรับสั่งขึ้นว่า “สว่างแล้วๆ เห็นนิพพานแล้ว พระนิพพานมีความสวยสดงดงามแจ่มใสเหลือเกิน..” แล้วที่สุดก็สิ้นพระชนม์บนเฮลิคอปเตอร์นั้นเอง