Uncategorized ข่าว เชียงราย

พลโท ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาภาค 3 เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2562

พลโท ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาภาค 3 เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2562

เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 12 พ.ค.62 ,0930 ที่วัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ ต.ดอยฮาง อ.เมืองเชียงราย โดยมี พระอาจารย์วิบูลย์ ธัมมะเตโช เจ้าอาวาสวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ พระภิกษุ สามเณร พร้อมด้วย นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พลตรี วีรยุทธ กวยะปาณิก เลขานุการ ศอ.จอส.ภาค3,พันเอก สุวิทย์ วังยาว รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 พันเอก พศิน แสงคำ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเชียงรายฝ่ายทหาร พลตำรวจตรี ยุทธชัย พัวประเสริฐ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนจิตอาสาพระราชทาน กำลังพลจิตอาสาพระราชทานทั้งฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ คณาจารย์วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำองค์การภาคเอกชน เยาวชน นักเรียน นักศึกษา จากสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงรายกว่า 2,000 คนเข้าร่วมกิจกรรม

ในการขับเคลื่อนกิจกรรมจิตอาสา ด้านพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ จัดโดยศูนย์อำนวยการจิตอาสาจังหวัดเชียงราย ร่วมกับวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ เริ่มด้วยประธานเปิดกรวยถวายราชสักการะหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เหล่าจิตอาสาได้ร่วมกันกล่าวคำปฏิญาณเราทำความดีด้วยหัวใจ จากนั้น ประธานและหัวหน้าส่วนราชการร่วมกันปลูกต้นรวงผึ้ง เสร็จแล้ว ประธานปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติ และชมนิทรรศการของส่วนราชการที่เข้าร่วมกิจกรรม อาทิ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2(เชียงราย) สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เชียงราย วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย โครงการสร้างรายได้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าภาคเหนือที่ 2 เป็นต้น ต่อจากนั้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมกันสร้างฝาย ธนาคารน้ำ ทำแนวกันไฟด้วยป่าเปียก และร่วมกันปลูกต้นไม้ยางนาพร้อมกับพระสงฆ์ 110 รูปด้วย

กิจกรรมจิตอาสาเฉลิมพระเกียรติ ณ ดอยอินทรีย์ ในครั้งนี้ มีความมุ่งหมายถวายความจงรักภักดีและเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2562 เพื่อนำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าจากห้วงการเผาเพื่อเตรียมการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาที่ทำกินที่ติดแนวเขตป่า ป้องกันการบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าและการตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งฟื้นฟูป่าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยการผนึกกำลังจิตอาสาร่วมกันปลูกต้นไม้ในป่า สร้างฝาย สร้างธนาคารน้ำ และจัดทำแนวกันไฟด้วยป่าเปียกตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อีกทั้งยังนำไปสู่การลดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ให้สามารถนำร่องขยายผลสร้างความชุ่มชื้นไปทั่วทั้งจังหวัดเชียงราย และเป็นต้นแบบให้แก่ 17 จังหวัดในภาคเหนือไปพร้อมกันด้วย โดยผลสัมฤทธิ์ของกิจกรรมในครั้งนี้ ได้ร่วมกันปลูกต้นยางนา 2,000 ต้น ต้นกล้วย 2,000 ต้น ฝายห้วยแห้ง 1 ตัว ธนาคารน้ำ 3 หลุม โคกหนองนาโมเดลน้ำหญ้าแฝก 1,000 ต้น และฝายมีชีวิตอีก 1ตัว

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานโครงการจิตอาสาพระราชทาน ตามแนวพระราชดำริ “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ด้วยทรงมุ่งหวังให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่า มีความปรองดอง สามัคคี ร่วมมือร่วมใจ ประกอบกิจกรรมสาธารณะ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนรวม โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ให้มีความรัก ความผูกพัน ใน 4 สถาบันของชาติ คือ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชน โดยศูนย์อำนวยการใหญ่โครงการจิตอาสาพระราชทาน ตามแนวพระราชดำริ (ศอญ.) ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์อำนวยการทำหน้าที่ประสานความร่วมมือทำงานระหว่างหน่วยราชการในพระองค์ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกหมู่เหล่า ให้มีส่วนร่วมทำงานแก้ไขปัญหาขั้นพื้นฐานของชาติ ให้คนในชาติ ในชุมชน มีความสุขอย่างยั่งยืน สนองพระราชปณิธานที่ว่า “รักษา สืบสาน ต่อยอด” สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อสร้างความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นสิ่งสาธารณะใช้ประโยชน์ส่วนรวมร่วมกัน โดยความร่วมมือทุกภาคส่วนให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงปฏิบัติ อีกทั้งเป็นการร่วมกิจกรรมโดยไม่หวังผลตอบแทน และยังได้รับการดูแลทุกข์สุขรวมทั้งสวัสดิการให้แก่ผู้มาร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงอีกด้วย

การพัฒนาสภาพแวดล้อมในครั้งนี้ ยังประโยชน์ให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีร่วมมือร่วมใจทำความดีในหมู่ประชาชน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ นับเป็นกิจกรรมที่สร้างความสามัคคีหล่อหลอมให้เกิดความรักและหวงแหนในทรัพยากรและสร้างสมดุลในสภาพแวดล้อมรวมถึงระบบนิเวศวิทยา ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ตลอดทั้งเป็นการร่วมกันแสดงออกซึ่งความรักเทิดทูนจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันหลักที่สำคัญของชาติอีกด้วย