Reporter&Thai Army นิตยสารตำรวจ สถานีประชาชน

” ร่วมคิด ร่วมทำ ” แม่ทัพภาคที่ 3 ประธานการประชุมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ…….

” ร่วมคิด ร่วมทำ ” แม่ทัพภาคที่ 3 ประธานการประชุมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ…….

พลโท ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นประธานในการจัดการประชุมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ ณ ห้องประชุม 101 สโมสรบันเทิงทัพ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562

ตามที่ กองทัพภาคที่ 3 ได้จัดตั้ง กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยการ ประสานงาน กำกับดูแล และบูรณาการความร่วมมือทั้งปวงในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน เนื่องจากในห้วงวันที่ 10 – 13 กุมภาพันธ์ ได้ปรากฏค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยมีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. สภาพภูมิประเทศ ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ และมีภูเขาล้อมรอบ 2. สภาพภูมิอากาศ ที่ลมสงบนิ่ง ไม่มีลมพัดผ่าน ที่เอื้ออำนวยการกักตัวของมลพิษ และ 3. การกระทำของมนุษย์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าวมากที่สุด

 

โดยที่ผ่านมา กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกินค่ามาตรฐานในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน แล้ว ภายใต้การปฏิบัติการ Action Plan โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้

1. การลาดตระเวนตรวจพื้นที่ด้วยอากาศยาน ประกอบไปด้วย ฮ.ท.212 และ ฮ.ท.72 ดำเนินการลาดตระเวนในพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดลำปาง, จังหวัดลำพูน และ จังหวัดอุตรดิตถ์

2. การจัดกำลังพลเข้าดับไฟในพื้นที่ที่เกิดเหตุทั้งเดินเท้า และส่งลงทางอากาศ โดยร่วมกับทุกภาคส่วนในการเข้าดำเนินการ ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ

3. การใช้อากาศยานในการทิ้งน้ำดับไฟ
​- ได้รับการสนับสนุนอากาศยานจากกองทัพบก ฮ.ท.17 จำนวน 2 เครื่อง ดำเนินการทั้งหมด 98 เที่ยวบิน สามารถทิ้งน้ำในพื้นที่เกิดไฟป่า จำนวน 343,000 ลิตร

​- ได้รับการสนับสนุนจาก บ.ทอ. บล.๒ ก (BT 67) จำนวน 2 เครื่อง ดำเนินการทั้งหมด 40 เที่ยวบิน เพื่อสร้างความชุ่มชื้นในอากาศโดยดำเนินการทิ้งน้ำ จำนวน 120,000ลิตร

​- ได้รับการสนับสนุนอากาศยานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฮ.ท.1117จำนวน 1 เครื่อง ดำเนินการทิ้งน้ำดับไฟทั้งสิ้น 124 เที่ยวบิน จำนวน 62,000 ลิตร

4. การทำเครื่องฟอกอากาศด้วยม่านน้ำ ได้จัดทำ ตั้งแต่ 22 กุมภาพันธ์จนถึงปัจจุบัน วันละ 175,000 ลิตร 4 ชั่วโมงต่อวัน (ห้วงเวลา 1000- 1400 นาฬิกา) รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,925,000ลิตร ณ อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า เพื่อเป็นการเพิ่มมวลอากาศดี เข้าสู่แอ่งเชียงใหม่ โดยใช้เส้นชั้นความสูงของห้วยตึงเฒ่า ซึ่งสูงกว่าตัวเมืองเชียงใหม่เป็นตัวส่งผ่านอากาศดี ฝุ่นละอองที่ผ่านม่านน้ำก็จะจับตัวเป็นตะกอนตกลง ส่งผลให้มีมวลอากาศดีเข้าสู่แอ่งเชียงใหม่ได้มากขึ้น​​

​ ทั้งนี้เพื่อให้การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันเป็นไปอย่างยั่งยืน กองทัพภาคที่ 3 จึงมีกรอบแนวความคิดในการดำเนินการ ดังนี้

 

1. SINGLE COMMAND ระบบการ ควบคุม สั่งการ ต้องมีความรวดเร็ว ชัดเจน และดำเนินการได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการสั่งการหลัก ตามระบบ Single Command ต้องลงไปถึงระดับอำเภอ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดทุกกระทรวงต้องให้การสนับสนุน และปฏิบัติตามแผนงานและข้อสั่งการอย่างเต็มกำลังความสามารถ นอกจากนี้ ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่ฝ่าฝืนจุดไฟในช่วงเวลาห้ามเผา โดยการกำหนดห้วงห้ามเผาควรถูกเสนอในระดับอำเภอ โดยดูจากสถานการณ์แต่ละพื้นที่ พร้อมกับประกาศห้วงห้ามเผาในระดับอำเภอ พร้อมทั้งขยายเครือข่ายจิตอาสา และประชาชน ในการช่วยกันสอดส่องดูแล และแจ้งเหตุในพื้นที่

2. ใช้หลัก 4 F 1 P (Find Fix Fight Follow) เป็นแนวทางแก้ปัญหา

​Find ​: ค้นหาพื้นที่เกิดไฟป่า

​Fix​: จำกัดพื้นที่ไม่ให้ขยายเพิ่มมากขึ้น

​Fight ​: ดำเนินการดับไฟป่า อากาศยานทิ้งน้ำดับไฟ, กำลังภาคพื้นดินดับไฟ

​Follow : จัดกำลังควบคุมพื้นที่ และมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าขึ้นมาอีก พร้อมทั้งสร้างความยั่งยืนด้วยระบบป่าเปียก โดยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น ทำให้เกิดน้ำขังอยู่ในพื้นที่ จนทำให้เกิดการแพร่ความชุ่มชื้น ซึ่งแนวความคิดจะขยายไปยังพื้นที่ปฏิบัติการ (AO) ที่ดอยพระบาทดอยขะม้อ, ดอยเหลาหลวง, ดอยผาเมือง, อุทยานแห่งชาติออบหลวง และอุทยานแห่งชาติแม่โถ

 

Public Mind : จิตสาธารณะ โดยเริ่มจากการที่ตนเองเกิดจิตสำนึกตระหนักถึงผลเสียต่อสุขภาพที่เกิดจากค่าฝุ่นละอองในอากาศ จนขยายไปยังพื้นที่ใกล้เคียง จนถึงระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ยกตัวอย่างเช่น ที่จังหวัดเชียงราย เริ่มดำเนินการปลูกจิตสำนึกตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ทุกคนมีความสำนึกในการช่วยกันแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการควบคุมสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ที่ผ่านมานั้น สามารถแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันให้ลดน้อยลงได้ในบางส่วน แต่ก็ยังมีการตรวจพบการลักลอบเผาป่า และการเผาในที่โล่งอยู่ต่อเนื่อง ล้วนเกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศที่เกินค่ามาตรฐาน และยังคงส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน อยู่ ณ ขณะนี้ จึงควรต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

 

ดังนั้น กองทัพภาคที่ 3 จึงได้ “จัดการประชุมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ” ขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งเครือข่ายภาคประชาชน ได้เห็นความสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยร่วมกันระดมแนวความคิด ในการปฏิบัติของแต่ละภาคส่วน ให้มี กรอบแนวทางในการควบคุมสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือไปในทิศทางเดียวกัน และบูรณาการความร่วมมือกัน ในการแก้ไขปัญหาเชิงประจักษ์ รวมทั้งวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงที่ต้องเพ่งเล็ง เพื่อจัดกำลังและยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ ของแต่ละหน่วยงาน ให้เกิดความสอดคล้องอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด มากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การความสำเร็จตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างมั่นคงและถาวร