ข่าวประชาสัมพันธ์

กาฬสินธุ์ ชุดเฉพาะกิจลุยสอบบุคคลในภาพนำนายทุนเข้าเจาะไม้พะยูงในโรงเรียน

ชุดเฉพาะกิจติดตามปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงจังหวัดกาฬสินธุ์ เรียกสอบบุคคลในภาพ ซึ่งพบหลักฐานเอกสารและการนำนายทุนเข้าเจาะไม้ วัดไม้ สำรวจก่อนประมูล เป็น กลุ่มธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์-ผอ.สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 ให้นายอำเภอทำบันทึกตรวจสอบก่อนเรียกมาชี้แจง ระบุหลังลงพื้นที่ คณะครู ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน พบหลักฐานเกี่ยวพันกับการประมูลไม้ เผยสาเหตุโรงเรียนขายไม้เพราะถูกขู่ว่าจะตั้งกรรมสอบหากไม้พะยูงหาย อีกทั้งหลงเชื่อว่าทำถูกระเบียบเพราะเจ้าหน้าที่รัฐแนะนำให้ทำ ขณะเดียวกันได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ย้ำประเทศไทยไม่มีนโยบายตัดไม้หวงห้ามในที่หลวงขาย ส่วนปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงที่โรงเรียนโนนศิลาสว่างวิทย์ตำรวจเร่งแกะรอยวงจรปิดตามตัวคนร้ายแล้ว

จากกรณีไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท หายไปจากสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ อย่างไร้ร่องรอย เมื่อช่วงคืนวันที่ 5 ส.ค.66 ที่ผ่านมา การตรวจสอบมีบุคคลของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง 8 ราย และยังมีปัญหาการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ที่ให้นายหน้าเข้ามาตัดไม้พะยูงภายในโรงเรียนถึง 22 ต้น กับอีก 2 ตอ ราคา 153,000 บาท โดยเรื่องนี้ จังหวัดได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.- ส.ต.ง.-ป.ป.ท. เอาผิดทางวินัย แพ่ง อาญา ล่าสุด ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ตั้งคณะไต่สวนจัดชุดใหญ่ ตรวจสำนวนตำรวจ ส่วนชาวบ้านที่รักษ์ผืนป่าทยอยส่งหลักฐาน การประมูลไม้พะยูงตามโรงเรียนในเขต สพป.เขต 2 หลายแห่ง โดยปรากฏ ที่โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี โรงเรียนหนองโนวิทยาคม อ.ห้วยเม็ก และที่โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก มีการนำหลักฐานกล้องวงจรปิดจับภาพชายฉกรรจ์ 7 คน เข้าไปเจาะดูแก่นไม้พะยูง ภายในโรงเรียนโคกกลางเหนือพิทยา อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ และล่าสุด ยังเกิดเหตุคนร้าย 5 คนอาวุธครบมือ ลอบตัดไม้พะยูงในโรงเรียนบ้านโนนศิลาสว่างวิทย์ หน้าบ้านผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอย่างอุกอาจ ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น

วันที่ 6 กันยายน 2566 ความคืบหน้าคดีตัดไม้พะยูงในโรงเรียนบ้านโนนศิลาสว่างวิทย์ ต.โนนศิลาเลิง อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ พล.ต.ต.สุวรรณ์ เชี่ยวนาวินธวัช ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.ชัยพร พงษ์ศักดิ์ รอง ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ เขาควบคุมคดีโดยตั้งทีมเฉพาะกิจ ตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้าติดตามเกาะรอยคนร้าย ตามกล้องวงจรปิด ถือเป็นเหตุที่อุกอาจไม่เกรงกลัวกฎหมาย ซึ่งได้กำชับให้ ตำรวจทั้ง 23 สถานี ทั้งจังหวัด ประสานกับทางอำเภอ เพื่อร่วมเวรยามในการเฝ้าระวัง ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ก่อนเหตุเริ่มมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเนื่องจาก ไม้พะยูง ถือเป็นไม้มงคลที่มีความต้องการของตลาดค้าไม้เป็นอย่างมาก อีกทั้งในภาคอีสานโดยเฉพาะที่จังหวดกาฬสินธุ์ รายงานแจ้งว่ายังมีปริมาณไม้พะยูงอยู่ จึงเป็นที่หมายปองของกลุ่มพ่อค้าไม้ ทั้งนี้ตำรวจจะทำหน้าที่ป้องกันและจับกุมให้ดีที่สุด

ขณะที่เดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ หัวหน้าพร้อมด้วยนายนิยม กิตติวงศ์ตระกูล ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ นายอดิสร คงสมกัน หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้กาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ กส. 1 (ดงมูล) ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุตัดไม้พะยูงโรงเรียนขาย 2 แห่ง ที่โรงเรียนหนองโนวิทยา ต.หัวหิน และโรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กาฬสินธุ์ เขต 2 ซึ่งเป็นการตรวจสอบทั้งเอกสาร และสอบปากคำผู้บริหารโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา และชาวบ้าน ในประเด็นก่อนและหลังการขออนุญาต การเปรียบเทียบราคาจากการประเมินปริมาตรไม้ที่ขายไป โดยมีตอไม้พะยูง ภาพถ่ายก่อนตัด และใบเสร็จรับเงินขายไม้เป็นหลักฐาน

โดยในการตรวจสอบ พบหลักฐานยืนยันตัวบุคคล ในการเข้ามาเป็นผู้ประสานงานตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ ปรากฏตัวและมีภาพถ่ายประกอบ ทั้งในส่วนของการเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการสถานศึกษา การเข้ามาตรวจวัดปริมาตรไม้พะยูง การประเมินราคาขาย การลงชื่อรับรองเอกสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา ระบุว่าเป็นคนของธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ชื่อ “สันติ” นอกจากนี้จากการตรวจสอบความเหมาะสมในการตัดยังพบพิรุธ ไม้พะยูงทุกขั้นตอนก่อนถูกตัดขาย บางต้นเหมือนมีการสร้างสถานการณ์ โดยไปสร้างห้องน้ำอยู่ใต้ร่มไม้พะยูง ก่อนทำการตัดไม้พะยูง ขณะที่ไม้ประเภทอื่น เช่น สะเดา ประดู่ ซึ่งมีความเสี่ยงจะล้มทับสิ่งปลูกสร้างกลับไม่ตัด เพราะ “ไม่ใช่ไม้พะยูง” โดยเฉพาะในส่วนของราคาซื้อขายที่ต่ำและแตกต่างกันมาก กับราคากลางหรือราคาประเมินตามมาตรฐานป่าไม้ประมาณ “30-50 เท่าตัว”

นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ ซึ่งดูแลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าชุดเฉพาะกิจติดตามปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ติดตาม ตรวจสอบกรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียนประมูลขาย โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายป่าไม้ ทำการตรวจสอบขั้นตอน ว่าปฏิบัติถูกต้อง สมเหตุสมผลหรือไม่ รวมทั้งยังมาให้กำลังใจฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น ท้องที่ ซึ่งทำหน้าที่เข้าเวรยาม ตรวจตรา ทรัพยากรต้นไม้ ตามข้อสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดทั้งให้กำลังใจคณะครู นักเรียน ในโอกาสเดียวกันอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้สอบถามผู้บริหารโรงเรียน กรรมการสถานศึกษาและชาวบ้าน ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการขออนุญาตตัดไม้พะยูงขาย และทำการตรวจวัดปริมาตรไม้ เพื่อประเมินราคาตามหลักการมาตรฐานของกรมป่าไม้ ซึ่งรายละเอียดอื่นๆ เช่น มีการฝ่าฝืนคำสั่ง กระทำการผิดกฎหมายหรือไม่ หรือมีบุคคลใดเกี่ยวข้องอย่างไร ก็จะได้มีการตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป

“เบื้องต้นพบว่าการประมูลไม้พะยูงขาย ถือว่าผิดกฏหมายทุกขั้นตอน เป็นการปฏิบัติผิดข้อสั่งการของทางจังหวัดรวมถึงข้อสั่งการตามหนังสือของกรมธนารักษ์ เลขที่ กค 0305/ว20 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 จึงได้สั่งการให้ นายอำเภอห้วยเม็ก ทำการสอบสวนรายงานเป็นรายลักษณ์อักษรระบุตัวบุคคล ซึ่งพยานระบุว่าชื่อ “สันติ” เป็นเจ้าหน้าที่ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ รวมถึง นายไสว สะอาด ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ และ ผอ.สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 ให้มาอธิบายถึงเหตุผลในการประมูลไม้ขายทั้งหมด ภายในสัปดาห์นี้

ด้านนายอดิสร คงสมกัน หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับการประเมินราคาไม้ในโรงเรียนหนองโนวิทยาคม ที่มีการซื้อขาย 9 ต้น ราคา 104,000 บาท แต่จากการประเมินวันนี้พบว่า หากมีการซื้อขายกันในท้องถิ่นจะได้ราคาประมาณ 600,000 บาท ขณะที่ประเมินตามราคามาตรฐานกรมป่าไม้ 1,512,750 บาท ส่วนไม้พะยูงโรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ 3 ต้น ซึ่งมีขนาดลำต้นสูงใหญ่ จากหลักฐานซื้อขายเพียง 30,000 บาท แต่จากการประเมินวันนี้ หากซื้อขายกันในท้องถิ่นจะได้ราคาประมาณ 800,000 บาท หรือราคามาตรฐานกรมป่าไม้สูงถึง 2,232,000 บาททีเดียว จึงเห็นว่าราคาแตกต่างกันมาก

ทั้งนี้การลงตรวจสอบโดยชุดเฉพาะกิจติดตามปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง ครั้งนี้ ยังได้ทำความเข้าใจ เกี่ยวกับคำสั่งห้ามตัดไม้หวงห้ามของ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และนำหนังสือของกรมธนารักษ์ เลขที่ กค 0305/ว20 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 เกี่ยวกับกฎ ข้อห้ามการตัดไม้พะยูงและไม้หวงห้ามอื่นๆ ซึ่งมีรายละเอียดกำกับชัดเจนทุกขั้นตอนพบว่าสิ่งที่โรงเรียนปฏิบัตินั้นไม่สามารถกระทำได้เป็นการทำการละเมิดและผิดกฏหมาย ทำให้หลายคนที่รับฟังอุทานออกมาว่า “ถูกหลอก” ให้ตัดไม้พะยูงขาย โดยยืนยันว่าคนที่เข้ามาแนะนำมาจาก 2 ส่วนคือ ผอ.สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 และคนของธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ชื่อ “สันติ” และพร้อมที่จะมาชี้ตัวว่าใครบ้างเป็นคนพาขายไม้

อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวรายงานว่า จากการสอบถามผู้บริหารคณะกรรมการโรงเรียน และชาวบ้าน จากโรงเรียนหนองโนวิทยาคมและโรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ ยังระบุตรงกันว่าคนของธนารักษ์ชื่อ “สันติ” ยังบอกว่า หากไม่อยากให้คนร้ายมาลอบตัดไม้พะยูงอีก ก็ให้ส่งเรื่องขออนุญาตกับเขตพื้นที่การศึกษา ตนจะเป็นคนดูแลให้ หากมีอะไรเกิดขึ้น จะรับผิดชอบเอง โดยเฉพะที่โรงเรียนคุรชนประสิทธิ์ศิลป์ ซึ่งไม่มี ผอ.โรงเรียน มีแต่ครูน้อย และเคยเกิดเหตุคนร้ายลักลอบตัดไม้พะยูงในโรงเรียนบ่อยครั้ง อีกทั้ง ผู้อำนวยการ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 มีความคิดตรงกันกับคนของธนารักษ์ ซึ่งเป็นผู้อนุญาต การตัดไม้พะยูงในโรงเรียน จึงเชื่อว่าทำได้ถูกต้อง ก็เลยปล่อยให้เป็นไปตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาให้นายทุนเข้ามาตัดไม้พะยูงในโรงเรียนขาย โดยทางเขตเป็นผู้ได้รับเงินไปทั้งหมดไม่มีเงินเข้าโรงเรียน ตามเอกสารประกอบในใบเสร็จรับเงิน
พฤติกรรมที่เกิดขึ้น จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าคืนคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์และกรมธนารักษ์ ที่มีเจตนารมณ์อนุรักษ์ทรัพยากรต้นไม้ในที่ราชพัสดุ ให้ความร่มรื่นและร่มเงาแก่ครู เด็กนักเรียน และป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อชดเชยผืนป่าธรรมชาติทั่วไปที่เสื่อมโทรม อย่างไรก็ตาม ทางด้านฝ่ายความมั่นคง ยังได้รับแจ้งจากชาวบ้าน ผู้ที่มีใจรัก หวงแหน ไม้พะยูง ที่ร่วมกันปลูกมาตั้งแต่สมัยพ่อแม่ ว่ายังมีเหตุลักลอบตัดและขายไม้พะยูงในโรงเรียนอีกหลายแห่ง ซึ่งจะได้มีการติดตามรายงานผลต่อไป อย่างไรก็ตาม จากคำสั่งการของนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ และมอบหมายนายธวัชชัย รอดงาม ผวจ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ติดตามกรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียนอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้ครูน้อย ชาวบ้าน นักเรียน ดีใจ ว่าภาครัฐมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาและกำลังดำเนินการตรวจสอบภายใน เพื่อกระชากหน้ากากคนของรัฐ ที่ทำตัวเป็นหนอนบ่อนไส้ ใช้ช่องว่างกฎหมายขายทรัพย์หลวงมาลงโทษต่อไป