ข่าว ลำพูน

จังหวัดลำพูน เปิดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์นครหริภุญชัย ภายใต้แนวคิด “ตามรอย พระนางจาม ตามทางพระเจ้ากาวิละ โตยฮอยบุญครูบาศรีวิชัย เปิด 4 เส้นทางท่องเที่ยว ม่วนใจ๋นครลำพูน”

วันที่ 8 ธันวาคม 2566 เวลา 17.30 น. ที่วัดบ้านดงหลวง ตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน มอบหมายให้ นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานพิธีเปิดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์นครหริภุญชัย โครงการลำพูนเมืองแห่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและอัตลักษณ์วิถี สู่เศรษฐกิจสรรสร้าง ตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดลำพูน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่บนฐานดิจิทัล และเพื่อประชาสัมพันธ์เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงประวัติศาสตร์ของจังหวัดลำพูนให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ที่ดำเนินการภายใต้แนวคิด “ตามรอยพระนางจาม ตามทางพระเจ้ากาวิละ โตยฮอยบุญครูบาศรีวิชัย เปิด 4 เส้นทางท่องเที่ยว ม่วนใจ๋นครลำพูน” โดยมี นางสิริรัตน์ โอภาพ วัฒนธรรมจังหวัดลำพูน หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม

นางสิริรัตน์ โอภาพ วัฒนธรรมจังหวัดลำพูน กล่าวว่าการจัดพิธีเปิดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์นครหริภุญชัยในวันนี้ถือเป็นการเปิดตัวและประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ จำนวน 4 เส้นทางที่ผ่านกระบวนการลงพื้นที่สำรวจและศึกษาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวและเส้นทางที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของนครหริภุญชัยมีกระบวนการประชุมคัดเลือกเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์นครหริภุญชัย และกระบวนการอบรมพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์นครหริภุญชัย ให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวที่ได้ดำเนินการไปในระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ณ เดอะ แกรนด์จามจุรี รีสอร์ท อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน โดยหลังเสร็จสิ้นกระบวนการดังกล่าวข้างต้นมีเครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์นครหริภุญชัย ครอบคลุมทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดลำพูน รวมจำนวน 11 ชุมชนใน 4 เส้นทางท่องเที่ยวการเดินทางจากละโว้สู่นครหริภุญชัย ประกอบด้วย

เส้นทางที่ 1 เส้นทางตามรอยพระนางจาม เส้นทางประวัติศาสตร์ชุมชนมหาวัน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ชุมชนบ้านหนองตู่ ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน และชุมชนบ้านดงหลวง ตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน

เส้นทางที่ 2 เส้นทางตามทางพระเจ้ากาวิละ เส้นสายลายศิลป์ถิ่นวัฒนธรรมไทลื้อ – ไทยอง ประกอบด้วย ชุมชนบ้านแพะต้นยางงาม ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ชุมชนบ้านทาชมภู ตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูนและชุมชนบ้านแม่ขนาด ตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน

เส้นทางที่ 3 เส้นทางโตยฮอยครูบาศรีวิชัย ต้นกำเนิดต๋นบุญหลวงแห่งล้านนา ศรัทธาแห่งชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ประกอบด้วย ชุมชนบ้านป่าป่วย ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ชุมชนบ้านพระพุทธบาทห้วยต้ม ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และชุมชนบ้านห้วยไร่ ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน

เส้นทางที่ 4 เส้นทางท่องเที่ยวม่วนใจ๋ หละปูนเมืองเก่า เล่าเรื่อง 1 วัน ประกอบด้วย ชุมชนต้นแก้ว ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ชุมชนบ้านหนองเงือก ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

สำหรับพิธีเปิดเส้นทางท่องเที่ยวฯ ในวันนี้มีกิจกรรมภายในงาน ได้แก่ กิจกรรมสาธิตทางวัฒนธรรมการจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรม การแสดงศิลปวัฒนธรรมของชุมชน ทั้ง 4 เส้นทางท่องเที่ยวฯ และกาดหมั้วอาหารท้องถิ่นเมืองลำพูน

“บ้านดงหลวง” เดิมชื่อ “บ้านดงสบลี้” มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งถิ่นฐานมาเป็นเวลายาวนาน โดยกลุ่มคนบ้านดงหลวง อำเภอเวียงหนองล่องนั้น เป็นกลุ่มที่อพยพมาจากบ้านดง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่ม ชาวไทยวนเมืองเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนมา ในสมัยพระบรมราชาธิบดีกาวิละหรือพระเจ้ากาวิละ แห่งราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน หรือที่เรียกว่า “ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญหลายอย่างที่แสดงถึงตัวตนของคนบ้านดงหลวง อาทิ ผ้าซิ่นตีนจกยุคเชียงแสน ที่ค้นพบในบ้านดงหลวง แห่งนี้

นาย แทน ต่อมสังข์ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัด รายงาน