ข่าวรัฐสภา

ณ องค์การบริหารส่วนหวัดเชียงราย พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน)

วันที่ 12 กันยายน 2562 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ องค์การบริหารส่วนหวัดเชียงราย พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) คนที่หนึ่ง พร้อมด้วย พันตำรวจตรี ยงยุทธ สาระสมบัติ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ และคณะสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะคณะกรรมการโครงการฯ ร่วมรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากตัวแทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย

เกี่ยวกับขั้นตอนการสร้างถนนพาราดินซีเมนต์ และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยนายสมศักดิ์ ปรางค์วิเศษ ผู้อำนวยการสำนักการช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ได้กล่าวถึงโครงการก่อสร้างถนนพาราดินซีเมนต์ว่า เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดทำแปลงสาธิตการก่อสร้างถนนพาราดินซีเมนต์ ในสายทางเชื่อมระหว่างหมู่ที่ 14 ตำบลบ้านดู่ ถึงชุมชนห้วยปลากั้ง ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย รวมระยะทางกว่า 500 เมตร นับว่าเป็นถนนสายแรกของภาคเหนือที่ใช้ส่วนผสมจากยางพารา ดิน และปูนซีเมนต์ ก่อให้เกิดการพัฒนาในหลายด้าน อาทิ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเทคโนโลยี ซึ่งในปัจจุบันจังหวัดเชียงรายมีพื้นที่สำหรับปลูกยางพารากว่า 300,000 ไร่ ซึ่งหากมีการขยายโครงการก่อสร้างถนนพาราดินซีเมนต์ ก็จะสามารถช่วยการสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางได้อย่างยิ่ง และเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ขณะที่ นางกรรณิการ์ ปินตาเลิศ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 14 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ในฐานะตัวแทนชาวบ้าน ได้กล่าวขอบคุณภาครัฐที่สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างถนนพาราดินซีเมนต์ ซึ่งถือเป็นโครงการที่ดี ลดปัญหาน้ำท่วมขังถนนในช่วงฤดูฝน ทำให้การสัญจรของชาวบ้านสะดวกสบายขึ้น อีกทั้งยังถือเป็นโอกาสที่ดีแก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราที่จะได้จำหน่ายน้ำยางพาราในราคาที่สูงขึ้นเป็นการเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรอีกด้วย

สำหรับประเด็นที่พบจากการรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการก่อสร้างถนนพาราดินซีเมนต์ ได้แก่ กลุ่มดินในแต่ละพื้นที่ยังมีความแตกต่างกันไม่เป็นไปตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด กลไกทางการตลาดทำให้ราคายางพาราลดลง น้ำยางพารา สารผสมเพิ่ม (Surfactant) และบริษัทที่จำหน่ายต้องได้รับมาตรฐาน ISO 9002 หรือเทียบเท่า และต้องได้รับการรับรองจากการยางแห่งประเทศไทยในการผลิตและจำหน่าย ซึ่งทางคณะกรรมการโครงการฯ ได้รับเรื่องไว้เพื่อหาแนวทางแก้ไขตามหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาต่อไป

ภาพ/ข่าว กฤษรชฏะชญตว์ กฤษพิพัฒนโภคิน ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน