Uncategorized

รมว.แรงงาน “พิพัฒน์” มอบเลขาฯ อารี พบปะให้กำลังใจเยาวชน IM Japan อัพสกิลก่อนบินไปฝึกงานที่ญี่ปุ่น

วันที่ 15 มกราคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้เข้ารับการฝึกอบรมโครงการฝึกปฏิบัติงานทางเทคนิคสำหรับผู้ฝึกปฏิบัติงานทางเทคนิคไทยในญี่ปุ่น (IM Japan) โดยมี นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นายพิเชษฐ์ ทองพันธ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี

นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้เข้ารับการฝึกอบรมโครงการดังกล่าวว่า การจัดส่งแรงงานไปทำงานในต่างประเทศ เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลและนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญและต้องการขยายตลาดแรงงานไปในต่างประเทศให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่แรงงานไทยมีอาชีพและรายได้มี่เพิ่มขึ้น ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการส่งแรงงานไปทำงานในต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การดำเนินโครงการตามความร่วมมือกับ IM Japan จึงเป็นอีกโครงการที่ดีมาก นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาการว่างงานและนำเงินตราเข้าสู่ประเทศแล้ว ยังเป็นการพัฒนาทักษะด้านภาษาให้กับแรงงานไทยและทักษะด้านอื่นๆ ด้วย ซึ่งแรงงานไทยจะได้รับประสบการณ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพและพัฒนาประเทศไทยต่อไป สำหรับโครงการ Im Japan ได้เริ่มตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ได้จัดส่งผู้ฝึกงานเทคนิคที่ประเทศญี่ปุ่นแล้วจำนวน 5,875 คน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้กว่า 6,400 ล้านบาท

นายอารี กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการดังกล่าวกระทรวงแรงงานได้ร่วมกับองค์กรพัฒนาแรงงานระดับนานาชาติประเทศญี่ปุ่น (International Manpower Development Organization, Japan : IM Japan) เพื่อจัดส่งแรงงานไทยไปฝึกปฏิบัติงานในประเทศญี่ปุ่น เป็นระยะเวลา 3 ปี มีค่าตอบแทนตลอดการฝึกงาน โดยกรมการจัดหางานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านการรับสมัครและคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรมร่วมถึงจัดส่งผู้ฝึกปฏิบัติงาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานรับผิดชอบด้านการฝึกอบรมก่อนการเดินทางไปฝึกปฏิบัติงานในประเทศญี่ปุ่น แบ่งการฝึกอบรมเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก มีระยะเวลาฝึกอบรม 2 เดือนเน้นทักษะด้านภาษา เกี่ยวกับการใช้ชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรม ช่วงที่ 2 จำนวน 2 เดือน เน้นทักษะด้านภาษาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม ซึ่งการฝึกในช่วง 2 เดือนหลังผู้เข้าฝึกจะทราบแล้วว่าตนเองได้รับการคัดเลือกเข้าทำงานในอุตสากรรมใด รวมระยะเวลาการฝึกทั้งสิ้น 4 เดือน หรือ 680 ชั่วโมง โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ใช้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี เป็นสถานที่จัดฝึกอบรมทักษะด้านภาษา วัฒนธรรม ประเพณี เรียนรู้เกี่ยวกีบการดำเนินชีวิตระหว่างอยู่ในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของสภาพร่างกาย

ด้าน นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2566 มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมตามโครงการ จำนวน 11 รุ่น 294 คน ผ่านการฝึกอบรม 202 คน ในจำนวนนี้เดินทางไปฝึกปฏิบัติงานที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว 154 คน ที่เหลืออีก 48 คนอยู่ระหว่างฝึกอบรมในช่วงที่ 2 ก่อนเดินทางไปฝึกปฏิบัติงาน และในปี 2567 เป้าหมายการดำเนินการ จำนวน 300 คน ผู้ที่ผ่านการฝึกปฏิบัติงานจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดินทางกลับมาประเทศไทย จะได้รับเงินเป็นทุนในการประกอบอาชีพในประเทศไทยอีกด้วย และแรงงานกลุ่มนี้เป็นกำลังแรงงานที่มีศักยภาพ มีทักษะทั้งด้านภาษาโดยเฉพาะภาษาญี่ปุ่น มีโอกาสกลับไปทำงานในสถานประกอบกิจการของญี่ปุ่นมากกว่าแรงงานกลุ่มอื่น ดังนั้น จึงเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานที่มีอายุระหว่าง 18 -30 ปี ไปทำงานต่างประเทศมากยิ่งขึ้น