ข่าว ร้อยเอ็ด ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเด่น

ดร.เอกภาพ ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ เปิดงานสืบสานจารีตประเพณีบุญบั้งไฟขอฝน ต.หนองพอก 

23 พฤษภาคม 67 ดร.เอกภาพ พลซื่อ  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ประจำปี 2567 ณ โรงเรียนบ้านปลาโด ต.หนองพอก อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด โดยการดำเนินงานของ นายสมชัย หกพันนา นายก อบต.หนองพอก และคณะ นางชญาภา สุริโย ผอ.โรงเรียนบ้านปลาโด กำนันสุรวุฒิ ชามนตรี สมาชิกสภาฯ พร้อมด้วย ผู้นำชุมชน องค์กร วัด สถานศึกษา ผู้ใหญ่บ้าน คหบดี ชาวบ้านทั้ง 11 หมู่  โดยช่วงกลางวันมีมหรสพสมโภช อาทิ หมอลำ หมอลำซิ่ง ช่วงบ่ายมีขบวนแห่มั้งไฟโบราณ การฟ้อนรำ 7ขบวน โดย ขบวนบ้านปลาโด หมู่ 3,9,13/ขบวนบ้านโคกนาคำ หมู่ 7,12,14/ขบวนบ้านฉวะ หมู่ 4,5,10/ขบวนบ้านโคกเลาะ,บ่งหมากฟัก หมู่ 6,8 /ขบวนโรงเรียนบ้านปลาโด/ขบวนโรงเรียนบ้านโคกนาคำ/ขบวนโรงเรียนศรีสวัสดิ์ มีการแห่รอบหมู่บ้านกว่า3กิโลเมตร ฟ้อนรำตามจุดต่างๆที่กรรมการกำหนดเพื่อเก็บคะแนนไปบรรจบที่สนามกีฬาโรงเรียนบ้านปลาโดฟ้อนตัดสินรอบสุดท้ายหาขบวนที่ชนะโดยขบวนของหมู่บ้านแข่งกันเอง ขบวนของโรงเรียนแข่งกันเอง วันจุดปั้งไฟได้มีเวทีจุดบั้งไฟที่หนองบัว หมู่ 13 หลังโรงเรียนบ้านปลาโด มีบั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน จากทุกหมู่ มีมหรสพสมโภชตลอดทั้งวัน โดยห้ามการพนันจุดบั้งไฟทั้งนี้ได้ขออนุญาตจากทางจังหวัดแล้ว

นายสมชัย หกพันนา นายก อบต.หนองพอก กล่าวว่า อบต.หนองพอกอยู่ห่างอ.หนองพอก 1 กม. มีหมู่บ้านบางส่วนแยกจากทต.หนองพอก มีประชากร 6,514 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลัก คือ การทำนา รองลงมาทำไร่ พืชไร่ที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ อ้อย มันสำปะหลัง ถั่วลิสงยูคาลิปตัส พืชเศรษฐกิจคือ ยางพาราปลูกกันเป็นจำนวนมากประมาณ 427 ไร่ นอกจากนี้เกษตรกรมีการทำสวน เช่น สวนมะม่วง กล้วยน้ำว้า ตลอดจนไม้ยืนต้นอื่น ๆ และมีการทำการเกษตรแบบยังชีพภายในครอบครัว พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝน ประชากรประกอบอาชีพทำนา ร้อยละ 75 ทำไร่ ทำสวน ร้อยละ 20 อาชีพค้าขาย ร้อยละ 2 และอาชีพอื่น ๆ ร้อยละ 3 เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มหากฝนมากมีน้ำท่วมไร่นาถนนฝายเสียหายตลอด


ดร.เอกภาพ พลซื่อ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานกล่าวว่า  งานบุญบั้งไฟ ถือเป็นประเพณีหนึ่งของภาคอีสาน ที่อยู่ในฮีต 12 คอง 14 โดยมีตำนานมาจากนิทานพื้นบ้าน ซึ่งได้กล่าวถึง การที่ชาวบ้านได้จัดงานบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อเป็นการบูชา พญาแถน หรือเทพวัสสกาลเทพบุตร ซึ่ง ชาวบ้านมีความเชื่อว่า พญาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และมีความชื่นชอบไฟเป็นอย่างมาก หากหมู่บ้านหรือชุมชนใดทำการจัดงานบุญบั้งไฟบูชา ฝนก็จะตกถูกต้องตามฤดูกาล ข้าวปลาอาหารเกิดความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนอยู่อย่างผาสุก ปราศจากโรคภัย และภัยพิบัติต่างๆ และจะจัดงานในห้วงเวลาเดือนหกหรือพฤษภาคมของทุกปี  ดังนั้นงานบุญบั้งไฟจึงถือเป็นงานประเพณี ประจำปีที่สำคัญของชาวอีสาน พอใกล้ถึงวันงานชาวอีสานไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะกลับบ้านมาร่วมงานบุญบั้งไฟอยู่เสมอ ซึ่งเป็นงานที่สร้างความรักความสามัคคีของคนท้องถิ่นเป็นอย่างดี เป็นการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมตามความเชื่อของท้องถิ่นเกี่ยวกับตำนานการขอฝนจากองค์พญาแถน ซึ่งผูกพันกับการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพของประชาชน และงานประเพณีบุญบั้งไฟยังแสดงออกถึงการเข้าร่วมกิจกรรมที่เสริมสร้างความรัก ความสามัคคี ความผูกพันของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

สมนึก บุญศรี  รายงาน