Reporter&Thai Army ข่าวเชียงใหม่

แม่ทัพน้อยที่ 3 ประชุมแผนงานศูนย์อำนวยการโครงการกำจัดพืชเสพติด กองทัพภาคที่ 3 โดยกองทัพน้อยที่ 3 และศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงพื้นที่อำเภออมก๋อย ประจำปีงบประมาณ 2562

แม่ทัพน้อยที่ 3 ประชุมแผนงานศูนย์อำนวยการโครงการกำจัดพืชเสพติด กองทัพภาคที่ 3 โดยกองทัพน้อยที่ 3 และศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงพื้นที่อำเภออมก๋อย ประจำปีงบประมาณ 2562 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อมอบแนวทางการปฏิบัติให้กับหน่วยในโครงการตั้งเป้าลดปัญหาการปลูกฝิ่นซ้ำซากในภาคเหนือ
เมื่อวันที่ 28 พ.ย.61 พล.ท.สุภโชค ธวัชพีระชัย แม่ทัพน้อยที่ 3 เป็นประธานการประชุมแถลงแผนของศูนย์อำนวยการโครงการกำจัดพืชเสพติด กองทัพภาคที่ 3 โดยกองทัพน้อยที่ 3 และศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงพื้นที่อำเภออมก๋อย ประจำปีงบประมาณ 2562 ณ ห้องประชุมทองจัตุ กองกำลังผาเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายวิชัย ไชยมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ,นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วม โดยการประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เป็นการมอบแนวทางการปฏิบัติให้กับหน่วยในโครงการ ตลอดจนซักซ้อมทำความเข้าใจในการเข้าควบคุมพื้นที่ปลูกฝิ่นและการตัดทำลายไร่ฝิ่น ประจำปีงบประมาณ 2562 เพื่อจัดการกับปัญหา เงื่อนไข อิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่ยังคงเหลืออยู่ และมุ่งเน้นการเฝ้าระวัง การสร้างความเข้มแข็ง ยั่งยืนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ภาคเหนือ 

สำหรับพื้นที่เป้าหมายในปีนี้ตรวจพบฝิ่นจำนวน 65 พื้นที่ แบ่งความรับผิดชอบให้หน่วยในโครงการ 4 หน่วย ประกอบด้วย พล.ร.4/กกล.นเรศวร 8 พื้นที่ พล.ร.7 25 พื้นที่ พล.ม.1/กกล.ผาเมือง 9 พื้นที่และ ฝทพ.ศปก.ทภ.3 จำนวน 23 พื้นที่ ทั้งนี้จากข้อมูลการสำรวจและการตัดทำลายไร่ฝิ่นในห้วงที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่ที่มีการลักลอบปลูกฝิ่นในปีนี้จะมีพื้นที่การปลูกเท่ากับปีที่ผ่านมา เนื่องจากเนื่องจากการดำเนินมาตรการป้องกันที่เข้มงวดในช่วงก่อนฤดูการปลูกฝิ่น มาตรการปราบปรามกลุ่มนายทุน ผู้สนับสนุนการปลูกฝิ่น รวมถึงการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาทางเลือกในพื้นที่ปลูกฝิ่นหนาแน่นอย่างต่อเนื่องและความเจริญที่เริ่มเข้าไปในพื้นที่ทุรกันดารมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างถนนและพัฒนาระบบสาธารณูปโภค อย่างไรก็ตามความต้องการของผู้เสพและราคาฝิ่นดิบในพื้นที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปลูกฝิ่นยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในเขต อ.แม่ระมาด อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ,อ.อมก๋อย อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่.

ด้าน นายปรัชญา ทวีกุล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. กล่าวว่า จากการสำรวจพื้นที่ลักลอบปลูกฝิ่นของสถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด(สพส.) สำนักงาน ป.ป.ส. ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึง เดือนพฤศจิกายน 2561 พบพื้นที่ปลูกฝิ่น 2 จังหวัด รวมพื้นที่ทั้งสิ้น จำนวน 179 แปลง พื้นที่ 168.89 ไร่ โดยจังหวัดเชียงใหม่พบ 88 แปลง พื้นที่ 66.95 ไร่ และจังหวัดตากพบ 91 แปลง พื้นที่ 101.94 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่ อ.ท่าสองยาง อ.แม่ระมาด จ.ตาก ติดต่อกับ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ อ.แม่แตง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยมีการเปิดพื้นที่เพื่อเตรียมปลูกฝิ่นอีกเป็นจำนวนมากในพื้นที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด ได้จัดทำเป้าหมายพื้นที่เตรียมการปลูกให้ชุดปฏิบัติการเข้าไปยับยั้งซึ่งได้ผลเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ราคาฝิ่นในพื้นที่ห้วงปี 2561/2562 พบว่า มีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นผลจากผลผลิตฝิ่นหลังจากการตัดฟันทำลายซึ่งผลผลิตที่รอดจากการตัดทำลายหรือถูกตัดทำลายไม่สมบูรณ์รวมถึงการตัดทำลายหลังจากผู้ปลูกเก็บเกี่ยวผลผลิตทำให้ผลผลิตฝิ่นดิบในพื้นที่มีจำนวนน้อย ส่งผลให้ฝิ่นดิบมีราคาสูง และ ในพื้นที่ปลูกฝิ่นหนาแน่นยังคงมีผู้เสพอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ติดต่อกับอำเภอแม่ระมาดและอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกฝิ่นหนาแน่นมากที่สุด มีราคาขายปลีกสูงถึงจ๊อยละ 134,400 บาท (มูละ 120 บาท) สาเหตุที่ทำให้ราคาสูงเนื่องจาก ผลผลิตฝิ่นในพื้นที่ที่รอดจากการตัดทำลายเหลือน้อยมาก ผู้เสพฝิ่นจึงต้องซื้อฝิ่นในพื้นที่จากพ่อค้าขายปลีก ทำให้พ่อค้าขายปลีกกำหนดราคาขายเองได้ตามต้องการ อย่างไรก็ตามความต้องการของผู้เสพและราคาฝิ่นดิบในพื้นที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้การปลูกฝิ่นยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในเขต อ.แม่ระมาด อ.ท่าสองยาง จ.ตาก อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

สำหรับโครงการแก้ไขปัญหาความมั่นคงพื้นที่อำเภออมก๋อย นั้น แม่ทัพน้อยที่ 3 กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงพื้นที่อำเภออมก๋อยได้บูรณาการหน่วยในแผนงานทุกภาคส่วน มุ่งมั่นไปสู่การลดปัญหาการปลูกฝิ่น การป้องกันเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ไม่ให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การบำบัดรักษาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด การปราบปรามผู้ค้ายาเสพติด และผู้มีอิทธิพล รวมทั้งปัญหาอื่นๆ ในพื้นที่เป้าหมายของอำเภออมก๋อยโดยตั้งเป้าหมายในการดำเนินงานให้สามารถลดพื้นที่ปลูกฝิ่น มากกว่า ร้อยละ 80 ของจำนวนพื้นที่เป้าหมาย และใช้มาตรการทางกฎหมายต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ ฝิ่น ยาเสพติด และปัญหาความมั่นคงอื่นๆ ได้มากกว่า ร้อยละ 80 ของจำนวนเป้าหมายที่กำหนด สำหรับการบำบัดรักษา ติดตาม ฟื้นฟู อย่างครบวงจร ต่อผู้เสพ ผู้ติดฝิ่น และยาเสพติดนั้น ตั้งเป้าลดผู้เข้ารับการบำบัดมากกว่า ร้อยละ 80 ของจำนวนตามฐานข้อมูล และมากกว่า ร้อยละ 85 ของผู้เข้ารับการบำบัด และครอบครัวที่ถูกคัดกรองแล้ว ได้รับการพัฒนาส่งเสริมคุณภาพชีวิต และอาชีพอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ในการป้องกันปัญหาฝิ่นและยาเสพติดต่อกลุ่มเยาวชน และผู้ใช้แรงงาน อีกทั้งกลุ่มเสี่ยง มีการเข้าร่วมกิจกรรม และมีภูมิคุ้มกันจำนวนได้มากกว่า ร้อยละ 80 ของกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด

ทั้งนี้พื้นที่อำเภออมก๋อย เป็นพื้นที่ตอนล่างของจังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ระยะทาง 179 กิโลเมตร มีประชากร จำนวน 6 หมื่นคนเศษ ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่ากระเหรี่ยง ร้อยละ 85 สภาพพื้นที่เป็นป่าภูเขาสูงสลับซับซ้อน ภูเขาสูงเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 – 1,500 เมตร ห่างจากแนวชายแดน ไทย – เมียนม่าร์ ประมาณ 15 กิโลเมตร ฝนตกชุกอุณหภูมิโดยเฉลี่ยทั้งปี ประมาณ 10 – 25 องศาเซลเซียส จากสภาพพื้นที่และสภาพอากาศเช่นนี้ จึงทำให้ต้นฝิ่นสามารถเจริญเติบโตได้ดี สถานการณ์การลักลอบปลูกฝิ่น
ในพื้นที่อำเภออมก๋อย ในช่วงปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงไปอย่างมาก โดยตรวจพบพื้นที่ลักลอบปลูกฝิ่นได้ จำนวน 56 ไร่เศษ ลดลงจากปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 94

//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////