ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเชียงใหม่ ข่าวเด่น สถานที่ท่องเที่ยว แถลงข่าว

(มีคลิป) แถลงเปิดตัว “ตลาดบก” สืบสานวัฒนธรรมไทย “กาดหมั้ว คัวเงิน คัวเขิน ชุมชนวัดศรีสุพรรณ ชุมชนวัดหมื่นสาร และชุมชนวัดนันทาราม”

แถลงเปิดตัว “ตลาดบก” สืบสานวัฒนธรรมไทย “กาดหมั้ว คัวเงิน คัวเขิน ชุมชนวัดศรีสุพรรณ ชุมชนวัดหมื่นสาร และชุมชนวัดนันทาราม” (ย่านวัวลาย) เสาร์ที่ 4 พ.ย.66 เวลา 19.00 น. ณ ตลาดวัฒนธรรมชุมชนวัดศรีสุพรรณ

เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2566 เวลา 19.00 น. ที่วัดศรีสุพรรณ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายธวัชชัย อุบลพิทักษ์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงานตลาดบกสืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 5 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.00 – 20.00 น. ณ ตลาดวัฒนธรรมชุมชนวัดศรีสุพรรณ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

กระทรวงวัฒนธรรม มุ่งขับเคลื่อนงานศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ปรับบทบาทสู่กระทรวงสังคม กึ่งเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน จึงได้ดำเนินโครงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยทุนทางวัฒนธรรม การส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน สู่เส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม การดำเนินงานพัฒนา ตลาดบกสืบสานวัฒนธรรมไทย ด้วยการพัฒนาศักยภาพเส้นทางท่องเที่ยวตลาดบก สืบสานวัฒนธรรมไทย โดยสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินโครงการ “การส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน อัตลักษณ์ไทย สู่เส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยคัดเลือกตลาดบก และตลาดน้ำ ที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมในการพัฒนาเป็นตลาดสืบสานวัฒนธรรมไทย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดยตลาดชุมชนวัดศรีสุพรรณ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่ โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับคณะทำงานการจัดกิจกรรมตลาดบกวัฒนธรรม ตลาดวัฒนธรรมชุมชนวัดศรีสุพรรณ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ “กาดหมั้ว คัวเงิน คัวเขิน ชุมชนวัดศรีสุพรรณ ชุมชนวัดหมื่นสาร และชุมชนวัดนันทาราม” (ย่านวัวลาย) ได้กำหนดจัดงานพิธีเปิดตัวตลาดบกสืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 3 – 5 พฤศจิกายน 2566 ตั้งแต่เวลา 09.00 -21.00 น. ณ ตลาดวัฒนธรรมชุมชนวัดศรีสุพรรณ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

โดยภาพรวมของการจัดงานและกิจกรรมต่างๆ ภายในงาน คือ การจัดนิทรรศการ องค์ความรู้ เครื่องเงิน เครื่องเขิน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ช่างหัตถกรรมเครื่องเงิน เครื่องเขิน ย่านวัวลาย โดยแบ่งออกเป็น โซนนิทรรศการ องค์ความรู้ ผลงานนักเรียน สล่า ช่างหัตถกรรมเครื่องเงิน เครื่องเขิน จากกิจกรรมการฝึกอบรมต่อยอดงานบุดุนโลหะของที่ระลึกผู้นำ APEC และกิจกรรมฝึกอบรมเครื่องเขินเบื้องต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพชุมชน, โซนการสาธิตภูมิปัญญาช่างหัตถกรรมเครื่องเงิน เครื่องเขิน โดยครูภูมิปัญญา สล่าล้านนา ในย่านวัวลาย อาทิ พ่อครูดิเรก สิทธิการ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (งานสลักดุนเครื่องเงินและโลหะ) พุทธศักราช 2565 ในส่วนของโซนกิจกรรม Work Shop เครื่องเงิน เครื่องเขิน

กาดหมั้ว คัวเงิน คัวเขิน เป็นการนำเสนอสินค้าทางวัฒนธรรมของชุมชนที่มีความโดดเด่น ผลิตภัณฑ์เครื่องเงิน เครื่องเขิน ของฝาก ของที่ระลึก, กาดหมั้วอาหารพื้นเมือง ชิมเมนูเชิดชูอาหารถิ่น “ตำจิ้นแห้ง” ขันโตกอาหารพื้นเมือง ไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง ลาบ แกงฮังเล, กิจกรรมนั่งรถลางเยี่ยมชม 3 วัด 3 ชุมชน “ชมงานศิลป์เยือนถิ่นงัวลาย” ทริป ครึ่งวัน โดยรับลงทะเบียนจำนวน 4 รอบ ได้แก่ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 จำนวน 2 รอบ (เช้า-บ่าย) วันที่ 4 – 5 พฤศจิกายน 2566 วันละ 1 รอบ (เช้า) ลงทะเบียน ช่วงเปิดตัวราคาพิเศษเพียง 299.- บาท พร้อมรับคูปองกาดหมั้ว

กิจกรรมประกอบด้วย
จุดที่ 1 เยี่ยมชมชุมชนวัดนันทาราม
– ต้อนรับและแนะนำความเป็นมาของชุมชน ณ วิหารวัดนันทาราม
– สักการะพระบรมธาตุเจดีย์ รักษาเมือง
– สาธิตการขูดลายเครื่องเขิน
– ชมพิพิธภัณฑ์เครื่องเขิน
– ขึ้นรถนำเที่ยว ณ วัดนันทาราม
จุดที่ 2 เยี่ยมชมชุมชนวัดหมื่นสาร
– สักการะอัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัย
– ชมหอศิลป์ 3 ครูบา
– ชมพิพิธภัณฑ์เครื่องเขิน
จุดที่ 3 เยี่ยมชมชุมชนวัดศรีสุพรรณ
– สักการะหลวงพ่อพุทธปาฏิหาริย์และพระพิฆเนศทันใจ
– ชมอุโบสถเงินหลังแรกของโลก ถ่ายรูปเช็คอิน
– ชมแหล่งเรียนรู้ช่างสิบหมู่ล้านนาวิหารศิลปะโบราณ
– มงคลพิธีถวายประทีปดอกบัวแด่หลวงพ่อภพุทธปาฏิหาริย์ และรับพระพุทธปาฏิหาริย์จำลอง

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการแสดงทางศิลปะและวัฒนธรรม เป็นการนำเสนอถึงการแสดงทางศิลปะวัฒนธรรม การละเล่น การแสดงดนตรีพื้นเมือง ที่สลับสับเปลี่ยนมาแสดง ตลอดระยะเวลาการจัดงานทั้ง 3 วัน พร้อมทั้งมีการจำหน่ายสินค้าทางผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งประกอบไปด้วย ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ อาทิ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ของใช้ ของฝาก ของที่ระลึก ของตกแต่งบ้าน รวมถึงอาหาร รวมกว่า 40 ร้านค้า

ดังนั้น จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศ ประชาชน ในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง และประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ มาร่วมสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนหัตถกรรมเครื่องเงิน เครื่องเขิน ย่านวัวลาย โดยพบกัน ในวันที่ 3 – 5 พฤศจิกายน 2566 หรือหากนักท่องเที่ยวท่านใดจะวางแผนมาเที่ยวเชียงใหม่ สามารถมาเยี่ยมชมตลาดแห่งนี้ ได้ในทุกๆ วันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ตลาดวัฒนธรรมชุมชนวัดศรีสุพรรณ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่.

ทรงวุฒิ ทับทอง