Uncategorized ข่าว เชียงราย

พันจ่าเอก สาคร สิทธิศักดิ์ ท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย เป็นประธานประชุมคณะทำงานติดตามสถานการณ์ภัยแล้งจังหวัดเชียงราย

. พันจ่าเอก สาคร สิทธิศักดิ์ ท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย เป็นประธานประชุมคณะทำงานติดตามสถานการณ์ภัยแล้งจังหวัดเชียงราย ปี 2563 เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2563 ที่ห้องธรรมลังกา ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ถนนแม่ฟ้าหลวง ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย โดยมี คณะทำงานติดตามสถานการณ์ภัยแล้งจังหวัดเชียงราย ปี 2563 ของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงรายเข้าร่วมประชุมด้วยความพร้อมเพรียง

ตามที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้มีข้อสั่งการให้สำรวจแห่งน้ำ หาแหล่งน้ำสำรอง ขยายแหล่งน้ำดิบเพื่อการอุปโภคบริโภค เพิ่มการผลิตประปาจากแหล่งน้ำดิบ หาแหล่งจัดทำแก้มลิง ทำธนาคารน้ำใต้ดิน จัดน้ำเพื่อการเกษตร ปิดกั้นลำน้ำ สูบจ่ายน้ำเตรียมปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เฝ้าระวังไม่ปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำ รณรงค์สร้างการรับรู้ ให้จิตอาสาร่วมรณรงค์ประชาสัมพันธ์และมีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

โดยการประชุม ฝ่ายเลขานุการได้แจ้งประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ภัยแล้งจังหวัดเชียงราย ปี 2563 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2562 เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติ เกิดผลสัมฤทธ์อย่างเป็นรูปธรรม และทันต่อสถานการณ์

ซึ่งจังหวัดเชียงรายได้ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ที่คาดหมายลักษณะอากาศ คาดว่าปริมาณน้ำฝนในภาคเหนือจะมีปริมาณต่ำกว่าปกติร้อยละ 40 หรือมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า 10 มิลลิเมตร ซึ่งมีการกระจายของฝนลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จังหวัดเชียงรายได้รับผลกรระทบจากสภาวะภัยแล้งมาตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา ในพื้นที่ 15 อำเภอ ได้แก่ อำเภอดอยหลวง อำเภอเวียงแก่น อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเวียงชัย อำเภอเชียงของ
อำเภอขุนตาล อำเภอพาน อำเภอเชียงแสน อำเภอพญาเม็งราย อำเภอเทิง
อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอเวียงเชียงรุ้ง อำเภอแม่จัน อำเภอป่าแดด และอำเภอแม่สาย รวม 75 ตำบล 672 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ 70,096 คน 28,471 ครอบครัว พื้นที่ทำการเกษตรนาข้าว 220,468 ไร่ พืชไร่ 25,439 ไร่ พืชสวน 1,164 ไร่ และบ่อปลา 361 บ่อ

ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์ ประสานแผนเผชิญเหตุ มีแผนเตรียมน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาให้เพียงพอ และภาคการเกษตรเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และประมง อีกทั้ง การรักษาความสมดุลในระบบนิเวศ ซึ่งประชาชนและเกษตรกรในจังหวัดเชียงรายที่ผ่านมาได้ให้ความร่วมมือกับทางราชการเป็นอย่างดี ทั้งในการประหยัดน้ำ การใช้น้ำอย่างประหยัดและจำเป็น ไม่เพิ่มการเพาะปลูกพืชในฤดูแล้ง รวมทั้ง รับรู้และรับทราบสถานการณ์ภัยแล้งอย่างครบถ้วน และพร้อมให้ความร่วมมือต่อภาคประชาสังคมอย่างเต็มที่อีกด้วย

จากสถานการณ์ดังกล่าว จังหวัดเชียงรายจึงต้องรับมือกับภัยแล้งที่คาดหมายว่าจะสร้างความเสียหายและผลกระทบแก่ภาคการเกษตร ชลประทาน และความสมดุลของระบบนิเวศ โดยมีการตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขภัยแล้งจังหวัดเชียงราย จัดทำแผนเผชิญเหตุภัยแล้ง และจัดประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดเชียงราย กชภจ.ชร.มีมติให้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจำนวน 63,630,558 บาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่พืชผลได้รับความเสียหาย รวมทั้ง พิจารณาประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านพยากรณ์อากาศ ด้านบริหารจัดการน้ำ ด้านแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำทั้งฝ่ายบริหารความต้องการและฝ่ายบริหารการสนับสนุน อีกทั้ง ด้านการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ซึ่งประธานที่ประชุมได้กำหนดข้อสั่งการให้แจ้งเตือนภัยแล้ง การรณรงค์ลดการใช้น้ำ การใช้น้ำอย่างประหยัด การรวบรวมข้อมูลผู้ประสบความเดือดร้อนจากภัยแล้งและการให้ความช่วยเหลือทั้งในและนอกเขตชลประทาน รวมทั้ง ให้เตรียมพร้อมระดมทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

??????????????⛽??
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย
13/01/63